คำวินิจฉัยที่ 101/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเอกชนด้วยกันว่า ที่ดินตาม ส.ค. ๑ ของบิดาโจทก์บางส่วนถูกจำเลยทั้งห้าแจ้งต่อผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองว่าเป็นผู้ครอบครองและนำชี้รังวัดจนเจ้าหน้าที่ของนิคมออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. ๓) ให้แก่จำเลยทั้งห้า ขอให้เพิกถอนการออก (น.ค. ๓) และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหาย เห็นว่า เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเองในนิติสัมพันธ์ที่จะต้องรับผิดต่อกันในทางแพ่ง โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๑/๒๕๕๖

วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสุรินทร์
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสุรินทร์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ดาบตำรวจ พงศ์สันต์ สันทัยพร โจทก์ ยื่นฟ้อง นายเอียบ เรืองชาญ ที่ ๑ นายเจียน เรืองชาญ ที่ ๒ นายเอือม เรืองชาญ ที่ ๓ นางสาวจำรัส เรืองชาญ ที่ ๔ นายคำ สวายประโคน ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสุรินทร์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๑๓๔/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายบำรุง สันทัยพร ก่อนนายบำรุงบิดาโจทก์ถึงแก่กรรมได้เป็นเจ้าของครอบครองที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๑๕ หมู่ที่ ๑ (ปัจจุบันหมู่ที่ ๙) ตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ประมาณ ๑๘ ไร่ ๓ งาน เมื่อปี ๒๕๕๓ จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองปราสาท จังหวัดสุรินทร์ แจ้งต่อผู้ปกครองนิคมว่า จำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินบางส่วนของนายบำรุงทางทิศใต้และนำชี้รังวัดจนนิคมสร้างตนเองออกเอกสารสิทธิหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. ๓) ให้แก่จำเลยทั้งห้า รวม ๖ แปลง ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ๒ งาน ๑ ตารางวา ไปออกเอกสารสิทธิเพื่อแบ่งให้แก่ทายาทของนายบำรุงได้ ขอให้เพิกถอนการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของนิคมสร้างตนเองจำนวน ๖ แปลง ของจำเลยทั้งห้าให้เป็นสิทธิของนายบำรุง และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า ที่ดินของจำเลยทั้งห้าเป็นคนละแปลงกับที่ดินตามคำฟ้องโจทก์ และจำเลยทั้งห้าได้เอกสารสิทธิหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. ๓) จากนิคมสร้างตนเองโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ออกทับที่ดินของบิดาโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่อาจบังคับได้เพราะโจทก์ขอให้เพิกถอนการเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองซึ่งเงื่อนไขการพิจารณาคุณสมบัติการเข้าเป็นสมาชิกและการคัดเลือกเพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่จำเลยทั้งห้าเป็นดุลพินิจของนิคมสร้างตนเองซึ่งเป็นฝ่ายปกครองและเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะและเป็นอำนาจฝ่ายปกครอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔ ว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสุรินทร์พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเอกชน โดยอ้างว่าเป็นผู้จัดการมรดกของนายบำรุง ผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๑๕ แต่ถูกจำเลยทั้งห้านำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของนิคมสร้างตนเองปราสาท และนำชี้รังวัดว่าเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินบางส่วนทางทิศใต้เพื่อขอออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์จนเจ้าหน้าที่ของนิคมสร้างตนเองปราสาทหลงเชื่อออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์และหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินให้แก่จำเลยทั้งห้ารวม ๖ แปลง การออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์และหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินทั้งหกแปลงดังกล่าวของนิคมสร้างตนเองปราสาทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิของที่ดินทั้งหกแปลงดังกล่าว ส่วนจำเลยทั้งห้าให้การว่า ที่ดินตามฟ้องโจทก์กับที่ดินของจำเลยทั้งห้าเป็นที่ดินคนละแปลงกัน การออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์และหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งจำเลยทั้งห้าครอบครองและทำประโยชน์อยู่นั้นชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้ออกทับที่ดิน ของนายบำรุงบิดาโจทก์ ดังนั้นการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่โจทก์ขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งห้าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้า ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน แต่เนื้อหาแห่งคดีเป็นเรื่องการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสร้างตนเองปราสาทซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่ออกให้แก่จำเลยทั้งห้าโดยอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์มอบหมาย การที่อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อโจทก์อ้างว่าการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินให้แก่จำเลยทั้งห้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองของอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ คู่ความที่แท้จริงจึงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งศาลจะต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕๗ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หมายเรียกอธิบดี กรมประชาสงเคราะห์ให้เข้ามาในคดีในฐานะผู้ร้องสอด เพื่อให้ใช้สิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และเป็นธรรม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลที่จะมีอำนาจในการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองคือศาลปกครอง รวมถึงมีอำนาจสั่งให้อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ถือปฏิบัติต่อสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๔) แม้คดีนี้จะต้องพิจารณาก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของนิคมสร้างตนเองปราสาทหรือที่ดิน ส.ค. ๑ ของโจทก์ ก็เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการพิจารณาในข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หามีผลทำให้คดีซึ่งเป็นคดีปกครองเปลี่ยนเป็นคดีแพ่งไปได้ไม่ ประกอบกับนิคมสร้างตนเอง เป็นหน่วยงานทางปกครอง และอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่เป็นเพียงผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะพิจารณาอนุญาตให้จำเลยทั้งห้าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเท่านั้น ข้อพิพาทในทำนองนี้จึงไม่อาจเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินดังเช่นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนทั่วไป ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามนัยมาตรา ๒๒๓ ประกอบมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนการที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินก็เนื่องมาจากการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดินนั้น ซึ่งเป็นมูลความที่เกี่ยวเนื่องกันจึงควรพิจารณา ในศาลเดียวกัน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง” คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของบิดาโจทก์ ก่อนบิดาโจทก์ถึงแก่กรรมได้เป็นเจ้าของครอบครองที่ดินตาม ส.ค. ๑ แต่ถูกจำเลยทั้งห้าแจ้งต่อผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองว่าเป็นผู้ครอบครองในที่ดินบางส่วนของบิดาโจทก์และนำชี้รังวัดจนเจ้าหน้าที่ของนิคมสร้างตนเองออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. ๓) ให้แก่จำเลยทั้งห้า ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำที่ดินพิพาทไปออกเอกสารสิทธิเพื่อแบ่งให้แก่ทายาทของบิดาโจทก์ได้ ขอให้เพิกถอนการออกเอกสารสิทธิ น.ค. ๓ ให้แก่จำเลยทั้งห้าให้เป็นสิทธิของบิดาโจทก์ และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนจำเลยทั้งห้าให้การว่า ที่ดินของจำเลยทั้งห้าเป็นคนละแปลงกับที่ดินตามคำฟ้องโจทก์ และจำเลยทั้งห้าได้เอกสารสิทธิ น.ค. ๓ โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ออกทับที่ดินของบิดาโจทก์ เห็นว่า เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง ในนิติสัมพันธ์ที่จะต้องรับผิดต่อกันในทางแพ่ง โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างดาบตำรวจ พงศ์สันต์ สันทัยพร โจทก์ นายเอียบ เรืองชาญ ที่ ๑ นายเจียน เรืองชาญ ที่ ๒ นายเอือม เรืองชาญ ที่ ๓ นางสาวจำรัส เรืองชาญ ที่ ๔ นายคำ สวายประโคน ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share