คำวินิจฉัยที่ 99/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแต่ถูกจำเลยขยายทางหลวงรุกล้ำที่ดินรวมทั้งตักดินนำไปถมเป็นทางก่อสร้าง ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า เมื่อจำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทให้ผู้รับจ้างทำการก่อสร้างปรับปรุงทางหลวงไม่มีผู้ใดโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ถือว่าเจ้าของที่ดินอุทิศให้เป็นสาธารณประโยชน์โดยปริยาย จึงไม่เป็นละเมิด เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๙/๒๕๕๖

วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ นายทวีศักดิ์ อภิชาติมณีกุล โจทก์ ยื่นฟ้องกรมทางหลวง จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๑๖/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๑๐ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ ตารางวา ประมาณเดือนมกราคม ๒๕๕๒ ถึงเดือนมกราคม ๒๕๕๓ จำเลย โดยสำนักทางหลวงกระบี่ (สุราษฎร์ธานี) และแขวงการทางภูเก็ตได้ก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข ๔๐๒๗ ตอนท่าเรือ-เมืองใหม่ ทำให้ไหล่ทางรุกล้ำที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตก รวมเนื้อที่ ๓ งาน ๕๘ ตารางวา โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบและไม่กันแนวเขตไว้เพื่อเวนคืนที่ดินก่อนทำการก่อสร้าง รวมทั้งได้ตักดินนำไปถมเป็นทางก่อสร้าง ทำให้ที่ดินที่เหลือมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า เดิมนายม่าจ๋วน ธีรปัจเจก เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๑๐ เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ ตารางวา ได้ยื่นขอรังวัดที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตแจ้งให้แขวงการทางภูเก็ตไประวังชี้แนวเขต เนื่องจากที่ดินของนายม่าจ๋วนด้านทิศตะวันตกติดทางหลวงหมายเลข ๔๐๒๗ แขวงการทางภูเก็ตได้แจ้งสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตถึงการกำหนดเขตทางหลวงหมายเลข ๔๐๒๗ กว้างข้างละ ๒๐ เมตร จากศูนย์กลางทาง นายม่าจ๋วนไม่ยอมแบ่งหักที่ดินของตนบางส่วนให้เป็นทางหลวง จึงขอยกเลิกคำขอรังวัดและขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยได้รับมอบทางหลวงหมายเลข ๔๐๒๗ จากจังหวัดภูเก็ตจึงว่าจ้างบริษัท เอส ซี จี ๑๙๕๕ จำกัด ทำการปรับปรุง โดยได้ส่งมอบที่ดินซึ่งส่วนหนึ่งเป็นที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ ๓ งาน ๕๘ ตารางวา โดยไม่ทราบว่าเป็นที่ดินของโจทก์ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวมีสภาพเป็นถนนกว้าง ๖.๕ เมตร และมีการก่อสร้างเสาไฟฟ้า วางท่อประปา อันเป็นการดำเนินกิจการสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประชาชนโดยทั่วไปและไม่มีผู้ใดโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ถือว่าเจ้าของที่ดินอุทิศให้เป็นสาธารณประโยชน์โดยปริยาย การที่จำเลยก่อสร้างถนนจึงไม่เป็นละเมิด จำเลยไม่เคยตักดินของโจทก์ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามที่กล่าวอ้าง คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล เนื่องจากตามคำฟ้องอ้างว่าจำเลยในฐานะหน่วยงานทางปกครองได้กระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ แล้วจึงจะพิจารณาในประเด็นต่อไปว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดหรือไม่ และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง ได้ดำเนินการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข ๔๐๒๗ รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ การที่จำเลยทำสัญญาจ้างบริษัท เอส ซี จี ๑๙๕๕ จำกัด ทำการปรับปรุงทางหลวงดังกล่าวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง อันเป็นการบริการสาธารณะโดยจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคตามอำนาจหน้าที่ของจำเลย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๑๐ เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ ตารางวา แต่ถูกจำเลยก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข ๔๐๒๗ และไหล่ทางรุกล้ำที่ดิน รวมเนื้อที่ ๓ งาน ๕๘ ตารางวา และตักดินนำไปถมเป็นทางก่อสร้าง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า นายม่าจ๋วนเจ้าของที่ดินเดิมได้ยื่นขอรังวัดที่พิพาท แต่ไม่ยอมแบ่งหักที่ดินของตนบางส่วนให้เป็นทางหลวง จึงขอยกเลิกคำขอรังวัดและขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยส่งมอบที่ดินซึ่งส่วนหนึ่งเป็นที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ ๓ งาน ๕๘ ตารางวา ให้ผู้รับจ้างทำการก่อสร้างปรับปรุงทางหลวงโดยไม่ทราบว่าเป็นที่ดินของโจทก์ เนื่องจากที่ดินมีสภาพเป็นถนน และมีการดำเนินกิจการสาธารณูปโภค ก่อสร้างเสาไฟฟ้าและวางท่อประปา ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประชาชนโดยทั่วไปและไม่มีผู้ใดโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ถือว่าเจ้าของที่ดินอุทิศให้เป็นสาธารณประโยชน์โดยปริยาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิด เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายทวีศักดิ์ อภิชาติมณีกุล โจทก์ กรมทางหลวง จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share