แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “diamond” สำหรับสินค้าโช้คอัพประตูไว้ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “diamond” สำหรับสินค้าโช้คอัพประตูกับสินค้าโครงฝ้าเพดานทำด้วยโลหะลูกเลื่อนประตูทำด้วยโลหะและลูกเลื่อนหน้าต่างทำด้วยโลหะ เมื่อเครื่องหมายการค้าที่โจทก์กับที่จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า โจทก์ซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ก่อนจึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับการจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เว้นแต่จำเลยที่ 2 จะมีคำสั่งให้โจทก์กับจำเลยที่ 3 ตกลงกันเองก่อน ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 24 หรือเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 เห็นว่าต่างฝ่ายต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้ากันมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตตามมาตรา 27 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 24 หรือมาตรา 27 แต่อย่างใด เนื่องจากมีเหตุบกพร่องในการตรวจสอบข้อมูลเครื่องหมายการค้าเพราะความขัดข้องของระบบคอมพิวเตอร์ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 20 อันจะต้องเพิกถอนการจดทะเบียนที่ไม่ชอบเสียทั้งหมด แม้จำเลยที่ 3 จะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าบางรายการที่แตกต่างกับที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้ก็ตาม
โจทก์ได้ร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 แล้ว แต่การร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไว้นั้นเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน ตามมาตรา 61 ส่วนการที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนไว้ดีกว่าจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 67 ซึ่งเป็นการอ้างเหตุแห่งการเพิกถอนที่แตกต่างกัน การที่โจทก์ได้ร้องขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้โจทก์พิสูจน์ว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าและร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “diamond” ของจำเลยที่ 3 และหรือให้จำเลยที่ 3 จดทะเบียนเพิกถอนเครื่องหมายการค้าคำว่า “diamond” ของจำเลยที่ 3 หากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีฐานะเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 2 เป็นผู้พิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “diamond” คำขอเลขที่ 416495 ของโจทก์ และเครื่องหมายการค้า คำว่า “diamond” คำขอเลขที่ 430188 ของจำเลยที่ 3 การพิจารณารับจดทะเบียนเป็นการเฉพาะตัวของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ตามทะเบียนเลขที่ ค. 132197
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2543 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “diamond” คำขอเลขที่ 416495 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 6 รายการสินค้า โช้คอัพประตู และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2543 จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “diamond” คำขอเลขที่ 430188 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 6 รายการสินค้า โช้คอัพประตู ลูกล้อเลื่อนประตูทำด้วยโลหะ โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเป็นทะเบียนเลขที่ ค. 135311 และจำเลยที่ 3 ก็ได้รับการจดทะเบียนเป็นทะเบียนเลขที่ ค. 132197…
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า มีเหตุให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 หรือไม่ ในเบื้องต้นปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่า นายโรจน์ศักดิ์ สินธุเดชากุล เป็นเจ้าของบริษัทไทยเสริมกิจ จำกัด และบริษัทโจทก์โดยบริษัทโจทก์มีนางยุพเรศ จินดากิตติกุล ภรรยาที่มิได้จดทะเบียนสมรสของนายโรจน์ศักดิ์เป็นกรรมการ นายโรจน์ศักดิ์ได้ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “diamond” ในนามของบริษัทไทยเสริมกิจ จำกัด มาตั้งแต่ปี 2528 และตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา โจทก์ได้ผลิตและจำหน่ายสินค้าโช้คอัพประตูภายใต้เครื่องหมายเดียวกันกับที่บริษัทไทยเสริมกิจ จำกัด จดทะเบียนไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2537 บริษัทไทยเสริมกิจ จำกัด ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย และไม่ได้ต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อไป โจทก์จึงได้ผลิตสินค้าโช้คอัพประตูภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวและนำออกจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวมาจนถึงปัจจุบัน ตามสำเนาบิลใบส่งของจำนวน 69 เล่ม เอกสารหมาย จ. 20 ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “diamond” ในนามของโจทก์เองหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการจดทะเบียนเนื่องจากนายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2543 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีกครั้ง พร้อมแสดงหลักฐานต่าง ๆ ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าโช้คอัพประตูมาเป็นเวลานานแล้ว จำเลยที่ 3 คงนำสืบเพียงว่า ได้ก่อตั้งบริษัทในปี 2540 และได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “diamond” ในปี 2543 โดยมิได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า คำว่า “diamond” กับสินค้าโช้คอัพประตูมานานหลายปีก่อนที่จำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “diamond” และเครื่องหมายการค้าคำว่า “diamond” ที่จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “diamond” ของโจทก์ซึ่งใช้มาก่อนดังกล่าว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้าคำว่า “diamond” ที่จำเลยที่ 3 ขอจดทะเบียน จึงชอบที่โจทก์จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์สำหรับสินค้าโช้คอัพประตูที่โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 3 ส่วนที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ศาลจำกัดสิทธิแห่งการจดทะเบียนของจำเลยที่ 3 ให้อยู่เฉพาะสินค้าอื่นนอกจากสินค้าที่โจทก์พิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่านั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “diamond” เฉพาะกับสินค้าโช้คอัพประตู แต่โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว สำหรับสินค้าจำพวกที่ 6 รายการสินค้า โช้คอัพประตูไว้ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ซึ่งขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 6 เช่นเดียวกัน โดยมีรายการสินค้าโช้คอัพประตูเหมือนกันกับมีรายการสินค้าอื่นอีก ได้แก่ โครงฝ้าเพดานทำด้วยโลหะ ลูกเลื่อนประตูทำด้วยโลหะ และลูกเลื่อนหน้าต่างทำด้วยโลหะซึ่งก็ล้วนแต่เป็นสินค้าในจำพวกที่ 6 เช่นเดียวกัน และเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 คล้ายกับของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงเป็นกรณีตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 20 ที่โจทก์ซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ก่อนเป็นผู้มีสิทธิได้รับการจดทะเบียนซึ่งย่อมมีผลให้จำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 เลย เว้นแต่นายทะเบียนจะมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทั้งสองรายนี้ตกลงกันเองก่อน ตามมาตรา 24 หรือนายทะเบียนเห็นว่าเป็นกรณีที่ต่างฝ่ายต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้ากันมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตตามมาตรา 27 แต่ปรากฏว่านายทะเบียนไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 24 หรือมาตรา 27 นั้นแต่อย่างใด โดยเหตุที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลยที่ 3 ไป ก็เนื่องจากมีเหตุบกพร่องในการตรวจสอบข้อมูลเครื่องหมายการค้าเพราะความขัดข้องของระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น จึงเห็นได้ว่าการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่จำเลยที่ 3 ดังกล่าวเป็นการจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 20 อันเป็นเหตุที่ต้องเพิกถอนการจดทะเบียนอันมิชอบนี้เสียทั้งหมด ไม่มีเหตุที่จะจำกัดการเพิกถอนเฉพาะบางรายการสินค้าดังที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า การที่โจทก์ได้ร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 แล้วเป็นการต้องห้ามมิให้ร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะได้ร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 แล้ว แต่การร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า เครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไว้นั้นเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน ตามมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ส่วนการที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ที่ได้จดทะเบียนไว้นั้นเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนไว้ดีกว่าจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนี้ แม้กรณีดังกล่าวจะเป็นการร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ที่ได้จดทะเบียนไว้เช่นเดียวกัน แต่เป็นกรณีที่โจทก์อ้างเหตุแห่งการเพิกถอนการจดทะเบียนแตกต่างจากกัน การที่โจทก์ได้ร้องขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้โจทก์พิสูจน์ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าและร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน