คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1900/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาจ้างได้ด้วยการลาออกจากงาน และหลังจากลูกจ้างแสดงเจตนาลาออกจากงานแก่นายจ้างแล้ว ลูกจ้างหามีสิทธิถอนเจตนานั้นได้ไม่ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 386 วรรคสอง
จำเลยยื่นหนังสือขอลาออกจากงานต่อโจทก์เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์2540 โดยระบุให้การลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2540 เช่นนี้ถือว่าการแสดงเจตนาลาออกจากงานของจำเลยมีผลตามกฎหมายแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือขอลาออกแม้ต่อมาจำเลยได้ยื่นหนังสืออีกฉบับหนึ่งต่อโจทก์ ขอยกเลิกหนังสือขอลาออกจากงานดังกล่าว ก็หามีผลเป็นการยกเลิกหนังสือขอลาออกจากงานไม่ หนังสือขอลาออกจากงานของจำเลยยังคงมีผลต่อไป
โจทก์มีระเบียบว่าด้วยพนักงานและลูกจ้างอันเป็นข้อตกลงที่เกี่ยวกับสภาพการจ้างว่า พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดประสงค์จะลาออกจากงาน ให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตนเพื่อเสนอตามลำดับจนถึงคณะกรรมการดำเนินการ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาอนุญาตแล้ว จึงให้ถือว่าออกจากงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างที่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์และจำเลยได้ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์โจทก์พิจารณาอนุมัติหนังสือขอลาออกจากงานของจำเลยในการประชุมก่อนที่หนังสือขอลาออกมีผล การลาออกจากงานของจำเลยจึงมีผลนับตั้งแต่วันที่จำเลยประสงค์ การที่จำเลยต้องออกจากงานเพราะเหตุดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเพราะถูกโจทก์เลิกจ้าง โจทก์ย่อมไม่มีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 แก่จำเลย
การที่โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลย เมื่อเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยคืนจากจำเลย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 407

Share