แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์รับจ้างขนส่งยางรถยนต์ของบริษัท ย. โดยมอบหมายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ล.รับขนส่งให้อีกทอดหนึ่ง ฉ.ลูกจ้างของจำเลยขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยโดยประมาท เป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ล.ที่บรรทุกยางรถยนต์ดังกล่าวแล่นสวนทางมา ทำให้ยางรถยนต์ที่บรรทุกมาตกลงไปจากรถ แล้วถูกคนร้ายลักไป โจทก์ได้ชำระราคายางรถยนต์ที่สูญหายให้แก่บริษัท ย.ไปแล้ว ดังนี้เห็นได้ว่า การที่ยางรถยนต์ถูกคนร้ายลักไป เกิดขึ้นเพราะความผิดของ ฉ.คนขับรถของจำเลยที่ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถบรรทุกยาง ซึ่งถ้าไม่ชน ก็คงไม่ถูกคนร้ายลักในที่เกิดเหตุการสูญหายของยางรถยนต์ จึงเป็นผลโดยตรงจากการละเมิด จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในผลแห่งละเมิดของ ฉ.คนขับรถของจำเลยที่ชนรถบรรทุกยางรถยนต์
โจทก์ฟ้องในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของบริษัท ย. ชอบที่จะคิดดอกเบี้ยในจำนวนค่าสินไหมทดแทน นับแต่วันที่โจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัท ย.ไป จะคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่จ่ายไปตั้งแต่วันละเมิดหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2512 นายฉลอง อรรตถีโภชน์ลูกจ้างและในทางการที่จ้างของจำเลย ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน น.ม.02692 ด้วยความประมาท คือขับด้วยความเร็วสูง และแซงรถอื่นล้ำเส้นทาง เป็นเหตุให้ชนกับรถบรรทุกของห้างหุ้นส่วนจำกัดเลาบราเดอร์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.บ.8733 และ ก.ท.น. 5186 ที่แล่นสวนทางมา ทำให้ยางรถยนต์บรรทุกไฟรสโตนซึ่งบรรทุกมาในรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวจำนวน 32 เส้น ราคา 44,161 บาท ของบริษัทยางไฟรสโตน (ประเทศไทย) จำกัด สูญหาย โจทก์เป็นผู้รับจ้างขนส่งยางรถยนต์ดังกล่าว และมอบหมายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลาบราเดอร์รับขนส่งอีกทอดหนึ่ง ได้ชำระราคายางที่สูญหายให้แก่ผู้ว่าจ้างแล้ว จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้ว่าจ้าง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิดจนกว่าชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นรับฟ้อง และสอบถามโจทก์ถึงเหตุที่ยางรถยนต์สูญหายโจทก์แถลงว่าเมื่อรถยนต์ชนกันแล้ว ยางรถยนต์ที่บรรทุกมาตกลงไปข้างล่าง คนในรถยนต์คันอื่นที่ผ่านมาได้หยิบเอาไป ศาลชั้นต้นเห็นว่าการที่ยางรถยนต์หายไป เป็นเรื่องนอกเหนือจากการกระทำของจำเลย ไม่ใช่ผลโดยตรง พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาต่อไปตามรูปคดี
จำเลยให้การว่า นายฉลองเป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันของจำเลยจริง เหตุที่รถชนกันเป็นความประมาทของคนขับรถบรรทุกยางทั้งสองคัน จำเลยไม่ต้องรับผิด และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ในเรื่องรับขนส่งยาง โจทก์ไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัทเจ้าของยาง หรือจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเลาบราเดอร์ นอกจากนี้ผู้รับประกันวินาศภัยรถของจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 70,000บาท ให้แก่ผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกทั้งสองของห้างหุ้นส่วนจำกัดเลาบราเดอร์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายซ้ำ เพราะมูลหนี้ละเมิดได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ย่อมระงับไป อย่างไรก็ดี โจทก์รับต่อศาลว่า การสูญหายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลภายนอก จึงไม่ใช่ผลโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายฉลองคนขับรถของจำเลยเป็นฝ่ายประมาทโจทก์มีหน้าที่และได้ชดใช้เงินค่าเสียหายให้เจ้าของยางรถยนต์ไปแล้ว ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้อง พิพากษาให้ชำระเงิน 44,161 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2512 จนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ว่ายางรถยนต์ที่สูญหายมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการละเมิดของนายฉลองคนขับรถของจำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ในปัญหาที่ว่ายางรถยนต์ที่บรรทุกมาในรถเกิดสูญหายเพราะมีคนร้ายลักไปหลังจากที่รถชนกันแล้ว จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริง ฟัง ได้ว่า นายฉลองคนขับรถของจำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถที่บรรทุกยางรถยนต์ จนทำให้ยางรถยนต์ที่บรรทุกมาตกลงไปจากรถ จึงเห็นได้ว่า การที่ยางรถยนต์ถูกคนร้ายลักไปนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของนายฉลองคนขับรถของจำเลยที่ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ชนรถบรรทุกยาง ซึ่งถ้าไม่ชน ก็คงไม่ถูกคนร้ายลักในที่เกิดเหตุ จึงนับว่าการสูญหายของยางรถยนต์เป็นผลโดยตรงจากการละเมิดรายนี้ จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในผลแห่งละเมิดของนายฉลองคนขับรถของจำเลยที่ชนรถบรรทุกยางรถยนต์
และเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของบริษัทยางไฟรสโตน (ประเทศไทย) จำกัด ชอบที่จะคิดดอกเบี้ยในจำนวนค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันที่โจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัทยางไฟรสโตน(ประเทศไทย) จำกัด ไป จะคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่จ่ายไปตั้งแต่วันละเมิดหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คิดดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2512 อันเป็นวันละเมิดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์ได้จ่ายเงินไปในวันเดือนใด คงปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามถึงจำเลยขอให้ชำระเงิน และจำเลยได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2513 จึงเห็นสมควรให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2513 เป็นต้นไป
ศาลอุทธรณ์แก้เฉพาะดอกเบี้ย ให้จำเลยชำระตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2513 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์