คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1897/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลย และสั่งให้โจทก์ (น่าจะเป็นจำเลย) นำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายใน 7 วัน ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดฝ่ายจำเลยเซ็นทราบคำสั่งนี้ ต่อมาอีก 1 เดือนเศษ จำเลยยังไม่นำส่งสำเนาฎีกา ดังนี้ เมื่อแบบพิมพ์ท้ายฎีกามีข้อความว่า “ฯลฯ และรอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอถือว่าทราบแล้ว” และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งดังกล่าวในวันที่จำเลยยื่นฎีกานั้นเอง จึงต้องถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งนั้นแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งผิดพลาดไป ควรจะสั่งว่า “ให้จำเลยนำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์” ก็ตาม แต่ผู้ที่ทราบคำสั่งก็ย่อมจะทราบได้ว่าตามคำสั่งนั้นหมายถึงให้จำเลยนำส่งสำเนาฎีกานั่นเอง เพราะจำเลยเป็นผู้ฎีกา เมื่อจำเลยมิได้นำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดเช่นนี้ จำเลยจึงทิ้งฟ้องฎีกา ศาลฎีกาจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นบุตรนางเล็ก ศรีประทีป ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว ก่อนถึงแก่กรรมนางเล็กได้แจ้งความประสงค์ว่า ต้องการให้จัดการทำศพของตนตามประเพณีไทย ห้ามนำศพเก็บไว้ในฮวงซุ้ย โจทก์จึงเก็บศพนางเล็กไว้ที่วัดอนงค์คารามเพื่อจัดการตามประเพณี แต่จำเลยกลับเอาศพนางเล็กไปเก็บไว้ที่บ้านจำเลย จังหวัดนครปฐม เพื่อบรรจุไว้ในฮวงซุ้ย เป็นการขัดต่อความประสงค์ของผู้ตายและโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีอำนาจหน้าที่ทำศพนางเล็กและให้จำเลยนำศพนางเล็กไปเก็บไว้ที่วัดอนงค์คาราม กรุงเทพมหานคร เพื่อโจทก์จะได้จัดการทำศพต่อไป
ศาลชั้นต้นสั่งรับฟ้องไว้ แต่เห็นว่าไม่จำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป พิพากษาว่าฟ้องของโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ (๑) เพราะโจทก์เคยฟ้องจำเลยว่าเอาศพนางเล็กไปจากวัดอนงค์คารามครั้งหนึ่งแล้ว ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๗๒/๒๕๑๗ ของศาลชั้นต้น และโจทก์ไม่มีสิทธิหน้าที่จัดการศพตามกฎหมายให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาและสั่งให้โจทก์ (น่าจะเป็นจำเลย) นำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายใน ๗ วัน ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดฝ่ายจำเลยเซ็นทราบคำสั่งนี้ ต่อมาอีก ๑ เดือนเศษ จ่าศาลได้รายงานให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทราบว่า จำเลยยังไม่นำส่งสำเนาฎีกา ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป
ศาลฎีกาเห็นว่า แบบพิมพ์ท้ายฎีกามีข้อความว่า “ฯลฯ และรอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว” และปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งดังกล่าวข้างต้นในวันที่จำเลยยื่นฎีกานั่นเอง จึงต้องถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งนั้นแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งว่า “ให้โจทก์นำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์” ซึ่งผิดพลาดไป ควรจะสั่งว่า “ให้จำเลยนำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์” ก็ตาม แต่ผู้ที่ทราบคำสั่งก็ย่อมจะทราบได้ว่าตามคำสั่งนั้นหมายถึงให้จำเลยนำส่งสำเนาฎีกานั่นเอง เพราะจำเลยเป็นผู้ฎีกา เมื่อจำเลยมิได้นำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดเช่นนี้ จำเลยจึงทิ้งฟ้องฎีกา
ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ.

Share