แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องลูกหนี้สองคนโดยกล่าวว่า เดิมจำเลยทั้งสองได้กู้เงินโจทก์ไป ต่อมาสัญญาหายโดยถูกคนร้ายปล้น โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญาให้ใหม่และเพิ่มหนี้ขึ้นอีก โดยลูกหนี้คนหนึ่งลงชื่อเป็นผู้กู้ ลูกหนี้อีกคนหนึ่ง ไม่ยอมลงชื่อเป็นผู้กู้ ดังนี้ถือว่า โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสัญญาฉบับหลังเท่านั้น ส่วนสัญญาฉบับเดิมนั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวเป็นสิทธิฟ้องร้องโจทก์เพียงแต่กล่าวท้าวถึงมูลหนี้เดิมว่าเป็นอย่างไรเท่านั้น ลูกหนี้ที่ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาฉบับหลังไม่ต้องรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเดือน 3 พ.ศ. 2490 จำเลยทั้ง 2 กู้เงินโจทก์ไป 2,230 บาท มอบโฉนดให้ยึดไว้เป็นประกัน ต่อมาโจทก์ถูกคนร้ายปล้นเอาสัญญากู้และโฉนดไป จำเลยที่ 2 ขอใบแทนโฉนดมามอบให้ โจทก์ขอให้ทำสัญญากู้ใหม่ จำเลยกู้เงินเพิ่มอีก 1,000 บาท เป็นเงิน 3,220 บาท แต่นางสำริดไม่เข้าชื่อเป็นผู้กู้ด้วย
นายแปลกจำเลยรับว่า ได้กู้ไปตามสัญญาท้ายฟ้องจริง
นางสำริดให้การว่า ไม่เคยกู้เงินโจทก์เลย ได้ฝากโฉนดกับโจทก์ไว้ฐานญาติ และตามฟ้องว่าได้แปลงหนี้ใหม่
ศาลชั้นต้นเห็นว่า สัญญากู้เงินฉบับเก่า เงิน 2,230 บาท ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ เท่ากับไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ พิพากษาให้นายแปลกใช้ต้นเงิน 3,230 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 15 แต่วันทำสัญญาครั้งหลัง ยกฟ้องเฉพาะนางสำริด
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สัญญากู้นั้นสูญหาย กรณีไม่เข้าประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ศาลรับฟังพยานบุคคลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย และมาตรา 92(2) ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้ง 2 รับผิดร่วมในต้นเงิน 2,230 บาทและดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่ง และให้นายแปลกใช้ต้นเงิน 1,000 บาท ดอกเบี้ยไม่บังคับโดยโจทก์ทำนาต่างดอกเบี้ย
นางสำริดฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสัญญาฉบับหลัง ไม่ได้อ้างสัญญาฉบับแรกมาฟ้อง เป็นแต่เพียงกล่าวถึงมูลหนี้เดิม นางสำริดจำเลยไม่ต้องรับผิด
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น