แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคาร ศ. และเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2533 ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าถือหุ้นในธนาคาร ศ. เกินร้อยละ 50 ธนาคาร ศ. ผู้เป็นนายจ้างมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2541 และไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 4 (6) โจทก์จึงสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนโดยผลของกฎหมายที่มีสาเหตุจากการใช้อำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 1 เมษายน 2545 ธนาคาร ศ. โอนกิจการให้ธนาคาร น. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและรับโอนโจทก์เข้าเป็นลูกจ้างของธนาคาร น. ด้วย วันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลดการถือครองหุ้นในธนาคาร น. ลงต่ำกว่าร้อยละ 50 ทำให้สถานะของธนาคาร น. กลับคืนสู่การเป็นบริษัทอีกครั้ง ธนาคาร น. ผู้เป็นนายจ้างจึงหักค่าจ้างของโจทก์นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โจทก์กลับเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 อีกครั้ง
การที่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนเพราะนายจ้างเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในครั้งแรก และโจทก์กลับเป็นผู้ประกันตนอีกครั้งเพราะนายจ้างพ้นสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจในครั้งหลังล้วนเป็นผลโดยตรงจากคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งสิ้น โจทก์ไม่มีส่วนกระทำหรือมีพฤติการณ์ใดที่ต้องร่วมรับผิดชอบ โจทก์ยังคงมีสภาพเป็นลูกจ้างของธนาคารผู้เป็นนายจ้างตลอดมาไม่ขาดตอน ต้องถือว่าการเป็นผู้ประกันตนทั้งสองช่วงของโจทก์เป็นการประกันตนตามมาตรา 33 คราวเดียวกัน โดยให้นับระยะเวลาการประกันตนทั้งสองช่วงต่อเนื่องกันตามมาตรา 42
โจทก์เจ็บป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2543 อยู่ในระหว่างระยะเวลาการเป็นผู้ประกันที่ให้นับต่อเนื่องกันนั้น โจทก์จึงมีสิทธิขอรับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 9 ที่ รง 0621/79835 ลงวันที่ 8 กันยายน 2548 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1791/2548 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 และให้โจทก์มีสิทธิรับประโยชน์ค่าบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2548 เป็นต้นไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2523 โจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานของธนาคารศรีนคร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท วันที่ 1 มีนาคม 2534 โจทก์ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 ธนาคารศรีนคร จำกัด เปลี่ยนสถานะจากบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจ วันที่ 1 เมษายน 2545 ธนาคารศรีนคร จำกัด โอนกิจการให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยโอนโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานด้วยและให้นับอายุงานต่อเนื่อง วันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัท โจทก์จึงกลับเป็นผู้ประกันตน ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2545 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 โจทก์ทำงานพิเศษเป็นลูกจ้างของบริษัทอุตสาหกรรมแหลมทองการแพทย์ จำกัด โจทก์มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมาก่อนได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2543 และโจทก์ได้ยื่นคำขอรับค่าบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2545 และวันที่ 23 มิถุนายน 2548 โจทก์ยื่นคำขอรับค่าบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 9 สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 9 มีคำสั่งที่ รง 0621/79835 ลงวันที่ 8 กันยายน 2548 ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิรับประโยชน์ค่าบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 1791/2548 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แม้จะกลับมาเป็นผู้ประกันตนอีกภายหลังเมื่อครั้งเป็นลูกจ้างของบริษัทอุตสาหกรรมแหลมทองการแพทย์ จำกัด ช่วงระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2545 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 และเมื่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 ถึงปัจจุบัน สำหรับการนับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อจะก่อให้เกิดสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีขอรับบริการทางการแพทย์โดยการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมไม่อาจนำมาใช้แก่กรณีของโจทก์ได้ กรณีของโจทก์ต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 63 ประกอบประกาศคณะกรรมการการแพทย์ เมื่อโจทก์เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2543 ก่อนการเป็นผู้ประกันตนครั้งที่สองในคราวที่ยื่นขอใช้สิทธิบำบัดทดแทนไต จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่จะได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 9 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 9 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายและมีเหตุเพิกถอนหรือไม่ โดยอุทธรณ์ของโจทก์มีรายละเอียดสรุปได้ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยที่ปฏิเสธสิทธิของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 ด้วยผลของกฎหมายจากเหตุการเปลี่ยนสถานะของนายจ้างจากบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจ แม้จะทำให้โจทก์กลายสถานะจากลูกจ้างของบริษัทเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจ แต่โจทก์ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของธนาคารผู้เป็นนายจ้างต่อเนื่องตลอดมา โดยที่ไม่เคยลาออกและถูกเลิกจ้าง จะถือว่าการเป็นผู้ประกันตนของโจทก์เป็นสองช่วงสองคราวไม่ได้ โจทก์ไม่มีพฤติการณ์สมรู้กับนายจ้างถือเอาประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม เห็นว่า โจทก์เป็นพนักงานของธนาคารศรีนคร จำกัด ต่อมาธนาคารดังกล่าวเปลี่ยนสถานะจากบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจ หลังจากนั้นโอนกิจการให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ภายหลังธนาคารผู้เป็นนายจ้างเปลี่ยนกลับคืนสู่สถานะบริษัทอีกครั้ง ระหว่างระยะเวลาของการเป็นผู้ประกันตนทั้งสองช่วงโจทก์ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สาเหตุที่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ มีคำสั่งให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าไปถือหุ้นในนามของทางราชการเกินกว่าร้อยละห้าสิบในหุ้นของธนาคารศรีนคร จำกัด ผู้เป็นนายจ้าง ผลคือสถานะของธนาคารดังกล่าวเปลี่ยนจากบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์จึงสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนด้วยผลของมาตรา 4 (6) ที่มีสาเหตุมาจากการใช้อำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อภายหลังจากธนาคารศรีนคร จำกัด โอนกิจการให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้มีคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลดจำนวนการถือครองหุ้นลงต่ำกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด อันเป็นผลให้สถานะธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจกลับคืนสู่บริษัทอีกครั้ง ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เป็นนายจ้างจึงมีหน้าที่หักค่าจ้างของโจทก์นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม การที่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนหรือกลับเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 อีกครั้ง ล้วนเป็นผลโดยตรงจากคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งสิ้น โดยที่โจทก์ไม่ได้มีส่วนกระทำการใดหรือมีพฤติการณ์ใดที่จะต้องรับผิดชอบ โจทก์ยังคงทำงานเป็นพนักงานของธนาคารผู้เป็นนายจ้าง สภาพความเป็นนายจ้างและลูกจ้างมีอยู่ตลอดมาไม่ขาดตอน นอกจากนี้แม้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่ได้ห้ามโจทก์สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แต่การที่จำเลยซึ่งเป็นองค์กรของรัฐด้วยกันผลักภาระให้โจทก์มีหน้าที่สมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เพื่อปกป้องรักษาสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคมต่อไป ย่อมเป็นการสร้างภาระที่เกินสมควรแก่โจทก์ เพราะการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต้องออกเงินสมทบสองเท่าของอัตราเงินสมทบและรัฐบาลออกให้หนึ่งเท่า ขณะที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนออกเงินสมทบฝ่ายละเท่ากันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 อีกทั้งสิทธิประโยชน์ทดแทนที่พึงได้จำกัดเพียง 3 ประเภท กล่าวคือ ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ในกรณีทุพพลภาพและในกรณีตายเท่านั้น ตามมาตรา 40 ประกอบพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตนซึ่งมิใช่ลูกจ้าง พ.ศ.2537 นอกจากนี้การผลักภาระดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบต่อการสิ้นสภาพหรือกลับคืนสภาพการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 การที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 9 และคณะกรรมการอุทธรณ์ หน่วยงานของจำเลยซึ่งเป็นองค์กรของรัฐอาศัยผลจากการสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนของโจทก์ที่มีสาเหตุจากคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยมาปฏิเสธสิทธิของโจทก์ในการรับบริการทางการแพทย์โดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จึงเป็นการใช้กฎหมายและตีความกฎหมายประกันสังคมที่ไม่ชอบ การตีความและใช้กฎหมายประกันสังคมจะต้องมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิของโจทก์ผู้ประกันตน โดยเฉพาะกรณีที่สาเหตุเนื่องจากการกระทำขององค์กรของรัฐด้วยกัน และด้วยผลของกฎหมายที่ทำให้การเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดและกลับมีขึ้นใหม่ กรณีนี้จึงต้องถือว่าการเป็นผู้ประกันตนทั้งสองช่วงของโจทก์เป็นการประกันตนตามมาตรา 33 คราวเดียวกัน โดยให้นับระยะเวลาการประกันตนทั้งสองช่วงต่อเนื่องกันตามมาตรา 42 เมื่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเกิดขึ้นระหว่างระยะเวลาการเป็นผู้ประกันตนดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิขอรับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตามมาตรา 63 ประกอบประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน กรณีบำบัดทดแทนไต ฉบับลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 ข้อ 8 (4) และหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและอัตราการบริการทางการแพทย์แนบท้ายประกาศฉบับดังกล่าว ข้อ 2. คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 9 คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลย และคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่ปฏิเสธการให้บริการทางการแพทย์โดยการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแก่โจทก์ตามคำฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 9 ที่ รง 0621/79835 ลงวันที่ 8 กันยายน 2548 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1791/2548 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 และให้โจทก์มีสิทธิรับประโยชน์ค่าบำบัดทดแทนไตโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2548 เป็นต้นไป