คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5424/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ห. และจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนทายาทของเจ้ามรดกไม่ใช่ครอบครองเพื่อตนเอง ดังนี้ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิ ยกอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกว่าคดีขาดอายุความได้ คดีฟ้องเรียกมรดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาท มีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้นจะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้ แต่ศาลจะเรียกทายาทอื่น นอกจากคู่ความหรือผู้ร้องสอดให้เข้ามารับ ส่วนแบ่งหรือกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นนั้นไม่ได้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาแบ่งที่ดินให้แก่ ว.ทายาทคนหนึ่งของเจ้ามรดกโดยที่ ว.มิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีหรือ ว. ได้มอบอำนาจให้โจทก์เรียกทรัพย์มรดกแทน จึงเป็นการกันส่วน แบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่น ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นอิสลามศาสนิกชนและมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดปัตตานี ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1821ตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 27313 ตำบลปะกาฮะรังอำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เป็นสินเดิมและทรัพย์มรดกของนายแวมะนอ หะยีแวฮามะ โดยให้โจทก์ที่ 1 และจำเลยได้รับส่วนแบ่งที่ดินพิพาทคนละ 2 ส่วน นางแวซง กาซอกับโจทก์ที่ 2 ได้รับส่วนแบ่งที่ดินพิพาทคนละ 1 ส่วน ให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองและนางแวซง กาซอ เป็นผู้มีสิทธิร่วมในที่ดินพิพาทหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นสินเดิมของบิดาแต่เป็นสินเดิมของมารดา ที่มารดาไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในที่ดินพิพาทนั้น ไม่ได้ไปขอออกแทนทายาท เมื่อปี 2535 มารดาแบ่งที่ดินซึ่งเป็นสินเดิมทั้งหมดให้แก่บุตรทั้งสามคน โดยยกที่ดินพิพาทให้จำเลย ส่วนโจทก์ที่ 1ได้รับที่ดินสวนมะพร้าวและที่ดินนาเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานีจังหวัดปัตตานี และนางแวซง กาซอ ได้รับที่ดินนา เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนรัก อำเภอหนองจิกจังหวัดปัตตานี หลังจากมารดายกที่ดินพิพาทให้ จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์โดยเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา โจทก์ทั้งสองไม่เคยโต้แย้งหากโจทก์ทั้งสองมีสิทธิในที่ดินพิพาทคดีก็ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1821 (โฉนดที่ดินเลขที่ 27313)ตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เป็นสินเดิมและทรัพย์มรดกของนายแวมะนอ หะยีแวฮามะ โดยให้โจทก์ที่ 1 กับจำเลยได้รับส่วนแบ่งที่ดินพิพาทคนละ 2 ส่วน และโจทก์ที่ 2 กับนางแวซง กาซอ ได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทคนละ 1 ส่วนให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองและนางแวซง กาซอเป็นผู้มีสิทธิร่วมในที่ดินพิพาทตามส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมนายแวมะนอ หะยีแวฮามะ กับนางแวเยาะ อุสมันบาฮา เป็นสามีภริยากันมีบุตรคือโจทก์ที่ 2 ต่อมานายแวมะนอ หะยีแวฮามะ กับนางแวเยาะ อุสมันบาฮา หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน หลังจากนั้นนายแวมะนอ หะยีแวฮามะ ได้นางหะจีเจะมีเนา หะยีแวฮามะเป็นภริยา มีบุตรคือ โจทก์ที่ 1 และจำเลย โจทก์ที่ 1 กับจำเลยจึงเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดาแต่ต่างมารดากัน นางหะจีเจะมีเนา หะยีแวฮามะ มีชื่อถือสิทธิครอบครองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1821ตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ปัจจุบันโฉนดเลขที่ 2733 ตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมืองปัตตานีจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2535 นางหะจีเจะมีเนา หะยีแวฮามะ ได้จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ปัจจุบันจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอยู่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของหรือครอบครองแทนทายาทคนอื่นของนายแวมะนอ หะยีแวฮามะ โจทก์ทั้งสองเบิกความว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 11 ไร่เศษเดิมเป็นของบิดาโจทก์ทั้งสองและจำเลย โดยบิดาซื้อมาจากนายเจ๊ะอูมาร ไม่ทราบนามสกุล เมื่อปี 2465 ขณะอยู่กินกับนางแวเยาะมารดาของโจทก์ที่ 2 ขณะซื้อที่ดินพิพาทมีหลักฐานเป็น ส.ค.1 เลขที่ 222 หมู่ที่ 1 ตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานีเอกสารหมาย จ.4 และเชื่อได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามเอกสารหมาย จ.4 ตรงตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบ และนอกจากโจทก์ทั้งสองแล้วพยานโจทก์อื่น เช่น นายมะมิงมะ สาและอายุ 75 ปี นายแวอาแซ แวนิ อายุ 60 ปี ก็เบิกความว่ารู้จักที่ดินพิพาทดีโดยเฉพาะนายมะมิงมะ สาและ เบิกความยืนยันว่า บิดาโจทก์เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โดยทำด้วยตนเองและมีลูกศิษย์ช่วยทำ ซึ่งนายมะมิงมะ สาและ ก็เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของบิดาโจทก์และมีส่วนช่วยทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่บิดาโจทก์ยังอยู่กินเป็นสามีภริยากับมารดาโจทก์ที่ 2 จนกระทั่งทั้งสองหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาแล้วมาแต่งงานกับนางหะยีเจะมีเนาะ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินเดิมของบิดาโจทก์ทั้งสองและจำเลยและบิดาไม่ได้ยกให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ขณะมีชีวิตอยู่ ที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกได้แก่ทายาท ซึ่งมีโจทก์ทั้งสองและจำเลยรวมอยู่ด้วยแม้โจทก์ทั้งสองจะได้รับทรัพย์สินของบิดาไปแล้วตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ก็หาได้หมดสิทธิในการรับมรดกของบิดาไม่ที่นางหะยีเจะมีเนาะไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในนามของตนเองนั้นเป็นการใส่ชื่อแทนทายาทนางหะยีเจะมีเนาะจึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนยกให้จำเลยแต่ผู้เดียว เพราะนางหะยีเจะมีเนาะอยู่ในฐานะครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทคนอื่น ดังนั้น จำเลยผู้รับโอนจากนางหะยีเจะมีเนาะไม่มีสิทธิดีกว่านางหะยีเจะมีเนาะผู้โอน แม้จะรับโอนมาก็ถือว่าครอบครองแทนแทนทายาทคนอื่นของนายแวมะนอ หะยีแวฮามะ ด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางหะยีเจะมีเนาะและจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนทายาททุกคน ไม่ใช่ครอบครองเพื่อตนเองแล้วจำเลยก็ไม่มีสิทธิยกอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองว่าคดีขาดอายุความได้
อนึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749 บัญญัติว่า”ถ้ามีคดีฟ้องเรียกมรดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาทมีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้นจะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้ แต่ศาลจะเรียกทายาทอื่น นอกจากคู่ความหรือผู้ร้องสอดให้เข้ามารับส่วนแบ่งหรือกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นนั้นไม่ได้”การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาแบ่งที่ดินให้แก่นางแวซง กาซอซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งโดยที่นางแวซงมิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีหรือได้มอบอำนาจให้โจทก์ทั้งสองเรียกทรัพย์มรดกแทนจึงเป็นการกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่น ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1821 (โฉนดที่ดินเลขที่ 27313) ตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานีซึ่งเป็นสินเดิมและทรัพย์มรดกของนายแวมะนอ หะยีแวฮามะให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 2 ใน 6 ส่วน ให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 1 ใน 6 ส่วน ให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิร่วมในที่ดินพิพาทตามส่วน หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share