คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2223/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของผู้ร้องในหน้าแรกมีตัวหนังสือที่มีตรายางประทับข้อความว่าผู้ร้องจะมารับทราบคำสั่งศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันยื่นและทุก ๆ 7 วันนั้น เป็นขั้นตอนการปฏิบัติของศาลในการกำหนดวิธีการรับทราบคำสั่งของศาลมีผลเป็นคำสั่งของศาล หาใช่เป็นเพียงแบบฟอร์มและวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ศาลไม่ ศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน 7 วัน โดยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2545 หลังจากที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ 7 วันก็ตาม แต่การที่ทนาย ผู้ร้องลงลายมือชื่อรับทราบข้อความที่ประทับตรายางต้องถือว่าผู้ร้องยอมผูกพันตามข้อความที่ประทับตรายางนั้น ถ้าไม่มาก็ให้ถือว่าผู้ร้องทราบคำสั่งแล้ว ดังนั้นแม้ผู้ร้องจะไม่มาฟังคำสั่งก็ถือว่าคำสั่งศาลชั้นต้นได้ส่งให้จำเลยโดยชอบและผู้ร้องทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2545 เมื่อปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2545 ว่าผู้ร้องมิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ผู้คัดค้าน จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบ มาตรา 246

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่าผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของนางสาว สลับ ผู้ตาย โดยมิได้ตั้ง ผู้จัดการมรดกไว้ การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าผู้ตาย ทำพินัยกรรมตั้งสภากาชาดไทยเป็นผู้จัดการมรดกไว้ ขอให้ยกคำร้องขอและตั้งสภากาชาดไทยเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สภากาชาดไทย เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวสลับ ผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๑๓ ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ผู้ร้องให้ผู้ร้องนำส่งภายใน ๕ วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน ๑๕ วัน หากไม่แถลง ถือว่าทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ต่อมาเจ้าหน้าที่รายงานว่า ผู้ร้องไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์จึงรวบรวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์ เพื่อพิจารณาสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบหรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า ตัวหนังสือที่เป็น ตราประทับและให้ทนายผู้ร้องลงลายมือชื่อเพื่อให้มาทราบคำสั่งศาลภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ยื่นนั้น มิใช่คำสั่งศาล แต่เป็นเพียงแบบฟอร์มหรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ศาลเท่านั้น ดังนั้นหากศาลชั้นต้นมีคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวก็เป็น คำสั่งลับหลังผู้ร้องหรือทนายผู้ร้อง ศาลชั้นต้นจะต้องมีหมายแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ร้งหรือทนายผู้ร้องทราบเสียก่อนจึงจะถือว่าผู้ร้องและทนายผู้ร้องทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ตัวหนังสือที่มีตรายางประทับ ข้อความว่า ผู้ร้องจะมารับทราบคำสั่งศาลภายใน ๗ วัน นับแต่วันยื่นและทุก ๆ ๗ วัน นั้น เป็นขั้นตอนการปฏิบัติของศาลในการกำหนดวิธีการรับทราบคำสั่งของศาลมีผลเป็นคำสั่งของศาล เมื่อทนายผู้ร้องลงลายมือชื่อรับทราบวันนัดให้มาฟังคำสั่งของศาลชั้นต้นดังที่กล่าวมาแล้ว กรณีเช่นนี้ต้องถือว่า ผู้ร้องยอมผูกพันตามข้อความที่ตนลงลายมือชื่อรับทราบไว้ หาได้เป็นเพียงแบบฟอร์มและวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ศาลดังที่จำเลยฎีกาไม่ ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นกำหนดเวลาให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน ๕ วัน แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งในวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ หลังจากที่ผู้ร้องอุทธรณ์ ๗ วัน ก็ตาม การที่ทนายผู้ร้องลงลายมือชื่อทราบวันนัดให้มาฟังคำสั่งของศาลดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น เป็นการแสดงเจตนาของผู้ร้องยอมรับผูกพันตนเองว่า จะมาฟังคำสั่งภายใน ๗ วัน นับแต่วันยื่น ถ้าไม่มาก็ให้ถือว่าผู้ร้องทราบคำสั่งแล้ว นอกจากนี้ก็ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งดังกล่าวในอุทธรณ์ในวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นวันที่กำหนดให้ผู้ร้องมาทราบคำสั่ง ฉะนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้มาฟังคำสั่งก็ถือว่าคำสั่งศาลนั้นได้ส่งให้ผู้ร้องโดยชอบ และผู้ร้องทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ ระยะเวลาสิ้นสุดที่ผู้ร้องจะต้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ตามคำสั่งศาลชั้นต้นภายใน ๕ วัน นับแต่วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ แต่ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ ว่า ผู้ร้องมิได้มานำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ผู้คัดค้าน จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๔ (๒) ประกอบมาตรา ๒๔๖ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกา เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share