แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่า จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ด้วยหรือไม่นั้น ปัญหาข้อนี้โจทก์มิได้ฎีกาและจำเลยที่ 2ให้การว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ไม่ได้ชำระเบี้ยประกันเพื่อต่ออายุสัญญาประกันภัยกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในคดีนี้ด้วย การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันที่เกิดเหตุของจำเลยที่ 2 แล้ว จึงต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น จึงเป็นฎีกาที่ขัดแย้งและนอกเหนือคำให้การของตน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2527 เวลาประมาณ6.30 นาฬิกา ขณะที่นายสอน ประเสริฐศิลป์ ลูกจ้างของโจทก์ขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10 – 9987 กรุงเทพมหานครของโจทก์รับผู้โดยสารจากจังหวัดลำพูนตามถนนพหลโยธินโฉมหน้าไปทางกรุงเทพมหานคร ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 30 – 31ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80 – 3259 นครสวรรค์ ของจำเลยที่ 2 นายจ้างและในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แล่นตามหลังรถยนต์โดยสารของโจทก์ด้วยความเร็วสูงและด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถที่จำเลยที่ 1 ขับชนท้าย รถยนต์ ของโจทก์ได้รับความเสียหายต้องทำการซ่อมเป็นเงิน 35,260 บาท และเสียค่าลากจูงไปทำการซ่อมเป็นเงิน 650 บาท กับทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ในระหว่างที่รถยนต์ของโจทก์ทำการซ่อมอยู่ 10 วัน เป็นเงิน15,000 บาท ร่วมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ 50,910 บาทจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย และโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินค่าเสียหายนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,500 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามแล้ว แต่ไม่ได้รับชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 54,410 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 50,910 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า เหตุคดีนี้เกิดแต่ความประมาทของนายสอน ประเสริฐศิลป์ ที่ขับรถยนต์โดยสารแซงรถคันอื่น ๆ เปลี่ยนช่องเดินรถเข้ามาในเส้นทางเดินรถคันหมายเลขทะเบียน 80 – 3259 นครสวรรค์ ในระยะกระชั้นชิดโดยกะทันหัน ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถหลบเลี่ยงและหยุดรถได้ทัน นอกจากนี้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80 – 3259นครสวรรค์ จึงไม่ต้องร่วมรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 39,910 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 44,910 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาข้อนี้โจทก์มิได้ฎีกาและจำเลยที่ 2 ให้การว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ไม่ได้ชำระเบี้ยประกันเพื่อต่ออายุสัญญาประกันภัยกับจำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในคดีนี้ด้วย การที่จำเลยที่ 2ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันที่เกิดเหตุของจำเลยที่ 2 แล้ว จึงต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น จึงเป็นฎีกาที่ขัดแย้งและนอกเหนือคำให้การของตน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน