คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1893-1894/2514

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

รถคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งใช้วิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3รับส่งคนโดยสาร โดยทาสีเป็นสีเดียวกับรถของจำเลยที่ 3 มีตราและอักษรย่อของจำเลยที่ 3 ติดที่ข้างรถ และต้องเสียเงินค่าขาหรือค่าออกรถให้จำเลยที่ 3 โดยมีนายสถานีซึ่งเป็นคนของจำเลยที่ 3 กำหนดเวลาให้ออกรถ ถือว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 ด้วย คนขับรถคันเกิดเหตุซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ย่อมจะต้องเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3จึงต้องร่วมรับผิดในการละเมิดของคนขับรถนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นภรรยาและบุตรผู้เยาว์และทายาทผู้รับมรดกของนายบุญเพชร กิจเจริญ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นสามีภรรยากัน จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทจำกัดและได้รับอนุญาตจากทางราชการให้เป็นผู้ประกอบการรถยนต์สาธารณะรับส่งคนโดยสารประจำทางในเส้นทางระหว่างจังหวัดพระนครกับจังหวัดปราจีนบุรีจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาต่อกันมีข้อความตามสำเนาหนังสือฉบับที่ 4251 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2507 จำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2507เป็นต้นมา โดยจำเลยที่ 3 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์โดยสารสาธารณะหมายเลขทะเบียน ป.จ.00340 จากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ได้จัดให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน ป.จ.00340 เดินรับส่งคนโดยสารระหว่างสถานีปราจีนบุรีกับสถานีอรัญญประเทศ นายน้อย บำรุง เป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารสาธารณะหมายเลขทะเบียน ป.จ.00340 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของและนายน้อย บำรุง เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2508 นายน้อย บำรุง ได้ขับรถออกจากสถานีปราจีนบุรี เพื่อรับส่งคนโดยสารระหว่างสถานีปราจีนบุรีกับสถานีอรัญประเทศ ตามทางการที่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3จ้าง โดยห้ามล้อของรถยนต์คันดังกล่าวแตกชำรุด ใช้การไม่ได้ และไฟหน้ารถยนต์ดวงข้างขวาบอดใช้การไม่ได้ แต่นายน้อย บำรุง ก็ยังคงขับรถยนต์คันดังกล่าวต่อไป ทั้ง ๆ ที่มีไฟหน้ารถยนต์เพียงดวงข้างซ้ายดวงเดียวและไม่สว่าง มองไม่เห็นทางข้างหน้า นายน้อย บำรุงขับรถยนต์ออกนอกทางของรถยนต์ ข้ามถนนเข้าไปในทางของรถยนต์ที่แล่นสวนทางมา จนเป็นเหตุให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน ป.จ.00340แล่นเข้าชนรถยนต์แลนด์โรเว่อร์หมายเลขทะเบียน ป.จ.00490 ของนายบุญเพชร กิจเจริญ และนายบุญเพชรเป็นผู้ขับสวนทางมาจากสถานีอรัญญประเทศในทางของรถยนต์ที่นายบุญเพชรขับ รถยนต์แลนด์โรเว่อร์หมายเลขทะเบียน ป.จ.00490 ของนายบุญเพชรพังเสียหายยับเยินทั้งคันใช้การต่อไปไม่ได้ นายบุญเพชรกับพวกได้รับบาดเจ็บสาหัส นายบุญเพชรทนพิษบาดแผลไม่ได้ถึงแก่ความตายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2508 การกระทำของนายน้อย บำรุง เป็นการประมาทเลินเล่อ ทำให้นายบุญเพชรและโจทก์เสียหาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 400,000 บาทกับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงิน 400,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2508 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2เป็นสามีภรรยากันจริง รถยนต์หมายเลขทะเบียน ป.จ.00340 ตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ 1 นายน้อย บำรุงเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์คันนี้ ห้ามล้อรถยนต์ของจำเลยที่ 1 หาได้แตกชำรุดไม่ และไฟหน้ารถของจำเลยที่ 1 ดวงทางด้านขวาก็มิได้บอดยังคงสว่างใช้การได้ดี เหตุที่รถยนต์ทั้งสองฝ่ายเกิดชนเป็นความผิดของนายบุญเพชรกิจเจริญ ที่ขับรถมาชนรถของจำเลยที่ 1 ในทางของจำเลยที่ 1 และต่อสู้ในเรื่องจำนวนค่าเสียหายด้วย

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ทำหนังสือสัญญากับจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง จำเลยที่ 3 เคยทำสัญญามีข้อความทำนองเดียวกับสัญญาตามสำเนาท้ายฟ้องกับจำเลยที่ 1 และต่างได้ปฏิบัติต่อกันตามสัญญาดังกล่าวนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ละเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา โดยไม่นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป.จ.00340 ของจำเลยที่ 1 เข้ามาวิ่งประจำทางในเส้นที่กำหนดไว้ในสัญญาตลอดมาจนบัดนี้เป็นเวลา 2-3 ปีแล้ว และไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้จำเลยที่ 3 ทราบ ทั้งไม่ยอมชำระค่าบริการและค่าปรับวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ไม่นำรถเข้าวิ่งประจำทางตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงออกประกาศบอกเลิกสัญญาไปแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุรถชนกันในคดีนี้ จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์อันใดต่อกัน ระหว่างเกิดเหตุชนกันนี้ จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ดังกล่าวเดินรับส่งคนโดยสารทั่วไปโดยพลการ หาได้อยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 3 ไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขทะเบียน ป.จ.00340 ให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่ได้ควบคุมหรือครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว การที่ทำสัญญากันไว้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมโอนรถยนต์คันดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 3 แสดงตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้น เป็นเพียงพิธีการตกลงทำขึ้นเพื่อให้สมคล้อยกับใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางของจำเลยที่ 3 เท่านั้น จำเลยที่ 3ได้แต่เพียงค่าบริการที่เรียกเก็บจากจำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทนในการที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ดังกล่าวเข้ามาวิ่งในเส้นทาง ไม่ได้ร่วมมีส่วนได้เสียในการเดินรถกับจำเลยที่ 1 สัญญาตามสำเนาท้ายฟ้องไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนได้เสียร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการเดินรถยนต์คันนี้ตรงที่รถยนต์ชนกันอยู่นอกเส้นทางที่กำหนดให้เดินรับส่งคนโดยสารตามสัญญาดังสำเนาท้ายฟ้อง นายน้อย บำรุง ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และไม่ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 หรือตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 ทั้งไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่จำเลยที่ 3 วางไว้ เหตุที่รถยนต์ทั้งสองคันชนกันเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของนายบุญเพชรกิจเจริญ โดยขับรถมาด้วยความเร็วสูงเส้นทางตอนเกิดเหตุเป็นทางโค้ง มิได้ชลอความเร็วลงตามสมควร และขับกินทางล้ำเข้ามาในทางรถยนต์คันที่นายน้อยขับสวนไป มิได้ลดไฟสูงหน้ารถลงเป็นใช้ไฟต่ำเมื่อรถจะแล่นสวนกัน และต่อสู้เรื่องจำนวนค่าเสียหายด้วย

ศาลชั้นต้นฟังว่า นายน้อย บำรุงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 รถเกิดชนกันเป็นผลจากความประมาทเลินเล่อของนายน้อยบำรุง ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 และเป็นการกระทำในขณะอยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 และฟังว่าขณะเกิดเหตุ รถของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เดินร่วมอยู่ในเครือของบริษัทจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ได้รับผลประโยชน์จากการเดินรถ จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกิจการเดินรถโดยสารร่วมกันโดยได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน เมื่อนายน้อย บำรุง เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ก็ย่อมจะต้องเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3จึงต้องร่วมรับผิด และกำหนดค่าเสียหายให้รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน339,000 บาท พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ส่วนหนึ่งร่วมกับบริษัทขนส่งจำกัด จำเลยที่ 3 อีกส่วนหนึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทน339,000 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2508 จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาพิเคราะห์คดีแล้ว ในชั้นฎีกามีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของบริษัทจำเลยที่ 3 อยู่ 2 ประเด็น คือ (1) จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของนายน้อย บำรุง ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หรือไม่

(2) ค่าสินไหมทดแทนที่ศาลล่างกำหนดให้มากเกินสมควรหรือไม่

ในประเด็นข้อ 1 นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานโจทก์แล้วได้ความว่า รถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน ป.จ.00340 ซึ่งนายน้อย บำรุงลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ขับชนรถของผู้ตายนี้ เป็นรถที่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ใช้วิ่งร่วมกับบริษัทจำเลยที่ 3 รับส่งคนโดยสารระหว่างปราจีนบุรี อรัญญประเทศ โดยทาสีส้มหรือสีหมากสุกอันเป็นสีรถของบริษัทจำเลยที่ 3 มีตราของบริษัทจำเลยที่ 3 และมีอักษรย่อบ.ข.ส. ติดอยู่ที่ข้างรถ การเดินรถร่วมกับบริษัทจำเลยที่ 3 จะต้องเสียเงินค่าขาหรือค่าออกรถให้บริษัทจำเลยที่ 3 การออกรถจากสถานีมีนายสถานีคนของบริษัทจำเลยที่ 3 กำหนดเวลาให้ออก โดยบริษัทจำเลยที่ 3 ได้รับผลประโยชน์จากการเดินรถร่วมของรถจำเลยที่ 1ทั้งขณะเกิดเหตุรถจำเลยที่ 1 ยังคงร่วมวิ่งกับบริษัทจำเลยที่ 3 ในเส้นทางดังกล่าว ดังนั้น บริษัทจำเลยที่ 3 จึงร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 และถือได้ว่าเป็นกิจการของบริษัทจำเลยที่ 3ด้วย เมื่อนายน้อย บำรุง เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ย่อมจะต้องเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย บริษัทจำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในการละเมิดของนายน้อย บำรุง

สำหรับประเด็นค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าที่ศาลล่างกำหนดให้เป็นการเหมาะสมแล้ว

พิพากษายืน

Share