แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัทโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยระบุว่า นาย จ.มาแจ้งว่านาย จ.ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 2 และต่อจากนั้นเป็นรายละเอียดข้อเท็จจริงที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงผู้แจ้ง จึงแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง และในช่องผู้แจ้งได้ลงลายมือชื่อของนาย จ.และนางสาว ศ.กรรมการของโจทก์อีกคนหนึ่งด้วย ดังนั้น ที่ระบุไว้ในคำร้องทุกข์ว่า นาย จ.ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ย่อมแสดงให้เห็นว่านาย จ.ร้องทุกข์ในฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ ทั้งมูลเหตุที่ผู้แจ้งอ้างว่าจำเลยทั้งสองฉ้อโกงนั้นเกิดจากการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงให้ผู้แจ้งซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ทำสัญญาเช่าตึกแถวกับจำเลยที่ 2 เท่ากับอ้างว่าโจทก์ถูกฉ้อโกง และในช่องผู้แจ้งนอกจากจะลงลายมือชื่อ นาย จ.แล้ว นางสาว ศ.กรรมการของโจทก์อีกคนหนึ่งก็ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ซึ่งตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ก็ปรากฏว่ากรรมการของโจทก์ที่มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทโจทก์ได้นั้นก็คือนาย จ.กับนางสาว ศ.ลงลายมือชื่อร่วมกัน คำร้องทุกข์ดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ของบริษัทโจทก์โดยชอบแล้ว หาใช่เป็นคำร้องทุกข์ของนาย จ.ในฐานะส่วนตัวไม่
ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ แม้คู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงกันมาเสร็จสิ้นเป็นการเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปเสียเองได้ก็ตาม แต่เห็นว่าประเด็นนี้สมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัย เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้