คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1892/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในวันที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองจาก อ.ด้วยหากจำเลยที่ 1 ไม่ขายที่ดินดังกล่าวก็ต้องชำระดอกเบี้ยจำนองปีละหลายสิบล้านบาท การที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำนองและได้ขายที่ดินที่จำนองได้เงินรวมทั้งสิ้น 721,600,000 บาทจึงเป็นการขายเพื่อชำระหนี้จำนองตามปกติ แม้จะเป็นการขายภายหลังศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก็ตามก็ยังเป็นการขายเพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้จำนอง และในคดีดังกล่าวแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายืนแต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1หรือไม่ยังโต้เถียงกันอยู่ นอกจากนี้ หากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเพียงประมาณ80,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 มีสินทรัพย์ 107,701,733.41 บาทหากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีแพ่งดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ยังมีสินทรัพย์พอชำระหนี้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 4 มิใช่มีเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำของจำเลยทั้งหกไม่มีมูลความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีโจทก์มีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่เห็นว่า ตามสารบัญจดทะเบียนในสำเนาโฉนดที่ดินทั้งสี่สิบสามโฉนดเอกสารหมาย จ.36 ปรากฏว่าในวันที่มีการจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที 4 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเอเซียจำกัด (มหาชน) และนายพิสิษฐ์ เดชไชยาศักดิ์ ทนายความโจทก์ตอบคำถามค้านทนายความจำเลยที่ 1 ว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ขายที่ดินดังกล่าวก็ต้องชำระดอกเบี้ยจำนองปีละหลายสิบล้านบาท การที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำนองและได้ขายที่ดินที่จำนองได้เงินรวมทั้งสิ้น 721,600,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินรวม 42 โฉนด และสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วนราชการหมาย จ.14 และ จ.15 จึงเป็นการขายเพื่อชำระหนี้จำนองตามปกติแม้จะเป็นการขายภายหลังศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1กับพวกร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก็ตามก็ยังเป็นการขายเพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้จำนองและในคดีดังกล่าวแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายืน แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1หรือไม่ยังโต้เถียงกันอยู่ นอกจากนี้ หากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องคดีนี้เพียงประมาณ80,000,000 บาท ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.9 เมื่อพิเคราะห์งบกำไรขาดทุนและขาดทุนสะสม ณ วันที่ 30 เมษายน 2537 ตามเอกสารหมาย จ.34 ได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายและมีกำไรสุทธิ 70,334,741.13 บาท ทั้งที่ได้รวมเอาหนี้สูญ 425,000,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายด้วย ทำให้ขาดทุนสะสมสิ้นปีเหลือเพียง 160,540,512.57 บท จากขาดทุนสะสมต้นปี 230,875,253.70 บาท การที่ขาดทุนสะสมลดลงถือว่า ผลประกอบการของจำเลยที่ 1 ดีขึ้น และตามงบดุล ณ วันที่ 30 เมษายน 2537 เอกสารหมาย จ.33 แสดงว่า ณ วันดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีสินทรัพย์ 107,701,733.41 บาท หากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีแพ่งดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ยังมีสินทรัพย์พอชำระหนี้แก่โจทก์ การโอนขายที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงมิได้เจตนาเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าในการบังคับคดีโจทก์มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินใดให้ยึดได้ ตามสำเนาหมายบังคับคดีและสำเนารายงานการยึดทรัพย์ (ที่ถูกเป็นสำเนารายงานเจ้าหน้าที่)เอกสารแนบท้ายคำร้องลงวันที่ 12 กันยายน 2538 และวันที่5 ตุลาคม 2538 นั้น เห็นว่า คำร้องฉบับแรก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง แม้โจทก์จะขอถือคำร้องดังกล่าวเป็นคำแถลงการณ์ประกอบการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม แต่เอกสารทั้งหมดโจทก์ยื่นในชั้นอุทธรณ์ มิใช่พยานหลักฐานที่ได้อ้างและยื่นต่อศาลโดยถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินทั้งสี่สิบสามโฉนดให้แก่จำเลยที่ 4 มิใช่มีเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำของจำเลยทั้งหกไม่มีมูลความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 และพิพากษายกฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share