คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1892/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องหาว่า จำเลยกระทำผิดตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา136 ซึ่งมีสาระสำคัญว่าจำเลยกระทำการบังคับบุคคลคนหนึ่งให้ส่งทรัพย์ให้แก่จำเลยนั้น ฟ้องจะต้องระบุถึงบุคคลนั้น พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จะระบุในฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยบังคับผู้มีชื่อให้ส่งทรัพย์ให้แก่จำเลยเท่านั้นไม่ระบุชื่อ จำเลยย่อมไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจำเลยต้องหาว่ากระทำการบังคับใคร ทำให้จำเลยมืดมนไม่รู้ที่จะแก้ข้อหาส่วนนี้อย่างไรได้จึงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยเป็นตำรวจประจำสถานีตำรวจจังหวัดพิษณุโลก เมื่อระหว่างวันที่ 5 ถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2492 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวันจำเลยบังอาจใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทางอันมิชอบ กล่าวคือ จำเลยบังคับให้ผู้มีชื่อซึ่งได้ฝากไม้สัก1 ท่อน ราคา 1,800 บาท ซึ่งเป็นของบริษัทพิศาล รัตตกุล และอยู่ในความดูแลรักษาของนายร้อยตำรวจเอกผสม สุขราษฎร์ มอบไม้สักดังกล่าวแล้วให้จำเลย มิฉะนั้นจำเลยจะทำการจับกุมตัวผู้มีชื่อไปสถานีตำรวจผู้มีชื่อมีความกลัวจึงมอบไม้สักดังกล่าวแล้วให้จำเลย แล้วจำเลยได้บังอาจเอาไม้สักนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 136, 288

จำเลยปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 1 ปี ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 136

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโดยเห็นว่าฟ้องเคลือบคลุม

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์หาว่าจำเลยกระทำผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 136 ซึ่งมีสาระสำคัญว่า จำเลยกระทำการบังคับบุคคลคนหนึ่งให้ส่งไม้สักให้แก่จำเลย ดังนี้ บุคคลนั้นจึงเกี่ยวข้องเป็นวัตถุแห่งการกระทำของจำเลยโดยตรง ฟ้องจะต้องระบุถึงบุคคลนั้นพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีการที่โจทก์ระบุในฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยบังคับให้ผู้มีชื่อให้ส่งไม้สักให้แก่จำเลยเท่านั้น จำเลยย่อมไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจำเลยต้องหาว่า จำเลยกระทำการบังคับใคร ทำให้จำเลยมืดมนต์ ไม่รู้ที่จะแก้ปัญหาส่วนนี้ได้อย่างไรได้ เห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

พิพากษายืน

Share