แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกโดย ทุจริตร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายว่ามีงานกรรมกรก่อสร้างที่ประเทศ สิงคโปร์ ได้ รับค่าจ้างเดือน ละ 6,500 บาท อันเป็นเท็จ ซึ่ง ความจริงแล้วไม่มีงานให้ทำจำเลยกับพวกไม่มีเจตนาและไม่สามารถจะส่งผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศ สิงคโปร์ ได้ ตาม ฟ้อง โจทก์แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่เป็นความผิดฐาน จัดหางานโดย ไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน ดังนี้ จำเลยมีเจตนาฉ้อโกงทรัพย์ของผู้เสียหายเท่านั้น ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใด ยกขึ้นอ้างศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,341 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา30, 82
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ให้จำคุก 3 ปี คำให้การของจำเลยชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ความผิดฐานฉ้อโกงให้ยกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30,82 ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเพียงว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 หรือไม่เห็นว่า ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องโดยทุจริตได้ร่วมกันหลอกลวงนายหนูหลอด พิมสิม และนายนิวัฒน์ เมืองนามผู้เสียหายว่า มีงานกรรมกรก่อสร้าง ได้รับค่าจ้างเดือนละ 6,500 บาทอันเป็นเท็จ ซึ่งความจริงแล้วไม่มีงานให้ทำ จำเลยกับพวกไม่มีเจตนาและไม่สามารถที่จะส่งผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ได้หากจำเลยมีเจตนาฉ้อโกงทรัพย์ของผู้เสียหายไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น เช่นนี้ตามฟ้องโจทก์แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายอย่างจริงจังแต่อย่างใดการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอ้างศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้…”
พิพากษายืน.