แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสามได้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกที่พิพาทอันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วจำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการรับมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิและตลอดจนความรับผิดต่าง ๆ จำเลยทั้งสามจึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยครอบครองปรปักษ์ ซึ่งบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสาม และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าว ที่ทำให้ตนเสียเปรียบได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายคำ นางเผือก มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือนายพิม นางหล่อ และนายห้อง โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสวัสดิ์ ซึ่งเป็นบุตรของนายพิม จำเลยทั้งสามเป็นบุตรของนางหล่อ นายคำ นางเผือกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1029 ตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เนื้อที่55 ไร่ 60 ตารางวา เมื่อนายคำถึงแก่ความตายที่ดินส่วนของนายคำเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทคือนางเผือก นายพิม นางหล่อ และนายห้องซึ่งได้โอนชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ต่อมานางเผือกถึงแก่ความตายที่ดินส่วนของนางเผือกตกทอดไปยังทายาท คือ นายพิม นางหล่อและนายห้อง แต่มิได้จดทะเบียนโอนมรดก คงแบ่งการครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัด ต่อมาเมื่อประมาณ 30 ปีมานี้นายพิมถึงแก่ความตายที่ดินส่วนนายพิมตกทอดแก่นายสวัสดิ์ ต่อมาปี พ.ศ. 2513นางหล่อได้ขายที่ดินส่วนของตนให้นายสวัสดิ์ โดยการผ่อนชำระค่าที่ดินและมอบที่ดินให้ครอบครองทำกิน เมื่อผ่อนชำระค่าที่ดินหมดสิ้นแล้วจึงทำสัญญาซื้อขายในปี พ.ศ. 2516 นายสวัสดิ์และโจทก์เข้าครอบครองทำกินโดยสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาโดยตลอดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2527 นายสวัสดิ์ถึงแก่ความตายโจทก์ครอบครองทำกินสืบต่อมา ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านเกิน 10 ปีแล้วจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของนางหล่อโดยการครอบครองปรปักษ์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2529 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2529 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินส่วนของนางหล่อและนางเผือกใส่ชื่อของตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1029ส่วนที่มีชื่อนางเผือก และนางหล่อถือกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินของจำเลยทั้งสาม และใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของในโฉนดแทนจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การว่า นายสวัสดิ์หรือโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินส่วนของนางหล่อในฐานะเจ้าของ เป็นแต่เพียงครอบครองแทนโดยการเช่าจากนางหล่อ เมื่อนางหล่อถึงแก่ความตายก็เช่าจากจำเลยทั้งสามนางหล่อไม่เคยขายที่ดินเฉพาะส่วนของนางหล่อให้แก่นายสวัสดิ์จำเลยทั้งสามรับมรดกที่ดินส่วนของนางเผือกและนางหล่อตามส่วนที่จำเลยทั้งสามมีส่วนได้ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิขอเพิกถอนการจดทะเบียน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทตามแผนที่เอกสารหมาย จ.9 ภายในเส้นสีดำหมายสีแดงประ เนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 92 ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ 1029 ตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ส่วนของนางเผือกและนางหล่อ เอมะวันธนะ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินของจำเลยทั้งสามออกจากโฉนดดังกล่าว
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาประเด็นแรกว่าโจทก์ได้ครอบครองปรปักษ์ที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์นอกจากจะมีพยานบุคคลมานำสืบว่า นายสวัสดิ์และโจทก์ได้ซื้อที่พิพาทมาจากนางหล่อและนางหล่อ ได้มอบการครอบครองที่พิพาทให้แล้ว โจทก์ยังมีพยานเอกสารคือสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.5 และแบบสำรวจเนื้อที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7มาแสดงว่า นายสวัสดิ์และโจทก์เป็นผู้ซื้อที่พิพาทและเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่พิพาทตลอดมา ประกอบกับข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายสวัสดิ์และโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516จนถึงปัจจุบัน พยานหลักฐานของโจทก์จึงสอดคล้องเชื่อมโยงในเหตุผลส่วนพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามที่นำสืบว่า นายสวัสดิ์และโจทก์เช่าที่พิพาททำนาเป็นการครอบครองแทนนางหล่อนั้น ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานสัญญาเช่ามาแสดงต่อศาลแต่อย่างใด คงมีแต่พยานบุคคลมาเบิกความลอย ๆ เมื่อเทียบพยานหลักฐานของโจทก์กับของจำเลยทั้งสามแล้วพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าของจำเลยข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า นายสวัสดิ์ได้ครอบครองที่พิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ พ.ศ. 2516และเมื่อนายสวัสดิ์ถึงแก่ความตายโจทก์ได้ครอบครองสืบต่อมาด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกินสิบปีแล้ว ดังนั้นโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
ปัญหาที่มาสู่ศาลฎีกาประเด็นต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่พิพาทของจำเลยทั้งสามได้หรือไม่เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2529 จำเลยทั้งสามได้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกที่พิพาทอันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วจำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทมาโดยการรับมรดก ต้องรับไปทั้งสิทธิและตลอดจนความรับผิดต่าง ๆ จำเลยทั้งสามจึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ซึ่งเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสาม และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวที่ทำให้ตนเสียเปรียบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300…”
พิพากษายืน