คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1881/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้พิพากษาซึ่ง พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องซึ่ง จำเลยที่ 3 ขอให้รับรองให้จำเลยที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดย มีคำสั่งในฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า”พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 3 เป็นหญิงหม้ายต้อง เลี้ยงดูบุตร จึงเห็นสมควรให้ศาลสูงสุดได้ วินิจฉัยอีกชั้น หนึ่ง จึงอนุญาตให้ฎีกาได้ สำเนาให้โจทก์” ดังนี้ คำสั่งดังกล่าวมิได้มีข้อความใด ที่แสดงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกากรณีจึงถือ ไม่ได้ว่าผู้พิพากษา ซึ่ง พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษานั้นได้ อนุญาตให้จำเลยที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30, 31, 32, 44พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 มาตรา 4, 5, 6, 12ริบของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 12099/2531 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 ที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30, 31, 32, 44 พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2497 มาตรา 4, 5, 6, 12 ฐานทำสุราไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 5 เดือน ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราที่ทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 1,000 บาท ฐานมีภาชนะเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราจำคุกคนละ 5 เดือน ฐานมีแสตมป์สุราปลอม จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานขายสุราที่ทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 3,000 บาท รวมจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท นับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 12099/2531 ของศาลชั้นต้นไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางริบ
จำเลยที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์ ขอให้รอการลงโทษ
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 5 ขอถอนอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์สั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องซึ่งจำเลยที่ 3 ขอให้รับรองให้จำเลยที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 3 เป็นหญิงหม้ายต้องเลี้ยงดูบุตรจึงเห็นสมควรให้ศาลสูงสุดได้วินิจฉัยอีกชั้นหนึ่งจึงอนุญาตให้ฎีกาได้ สำเนาให้โจทก์” เห็นได้ว่า คำสั่งดังกล่าวมิได้มีข้อความใดที่แสดงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา กรณีจึงถือไม่ได้ว่า ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษานั้นได้อนุญาตให้จำเลยที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 3.

Share