คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1784/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ปลอมตัวเป็นคนอื่น” ตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 306(1) นั้น มุ่งหมายถึงการแสดงตัวให้เขาหลงเชื่อว่าเป็นคนอื่น ซึ่งไม่ใช่ตัวของตัวเอง
จำเลยใช้ถ้อยคำหลอกลวงให้เขาหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นนายร้อยตำรวจโทประจำกองสอบสวนกลางปทุมวัน (ระบุชื่อ) เมื่อความจริงจำเลยมิใช่เป็นนายร้อยตำรวจประจำกองสอบสวนกลางแล้ว แม้จะไม่ปรากฎว่ามีนายร้อยตำรวจโทชื่อนั้นในกองสอบสวนกลางหรือไม่, ก็ถือว่าเป็นการปลอมตัวตามความหมายในมาตรา 306(1) แล้ว

ย่อยาว

คดีได้ความว่าจำเลยได้บังอาจใช้นามตำแหน่งยศโดยปลอมตัวเป็นนายร้อยตำรวจโทจำลอง บุนนาคประจำกองสอบสวนกลางปทุมวัน ซึ่งไม่ปรากฎว่ามีนายร้อยตำรวจโทจำลอง บุนนาคตัวจริงในกองสอบสวนกลางปทุมวัน และใช้อุบายเท็จหลอกลวงนางสงวน เวชชาชีวะว่าทางราชการตำรวจต้องการซื้อกล้องถ่ายรูปชนิดซูเปอร์อีคอนด้า ขนาด ๖x๖ เซ็นต์ ๑ กล้อง ขอรับเอากล้องถ่ายรูปไปให้ทางราชการดูก่อนถ้าตกลงซื้อก็จะนำเงินมาให้เป็นราคา ๔๓๐๐ บาท ถ้าไม่ซื้อจะนำกล้องถ่ายรูปมาคืนให้ความจริง จำเลยมิได้เป็นนายร้อยตำรวจโทจำลอง บุนนาคประจำกองสอบสวนกลาง ทั้งทางราชการตำรวจก็มิได้มีความประสงค์จะขอซื้อกล้องถ่ายรูป นางสงวนหลงเชื่อถ้อยคำเท็จที่จำเลยกล่าวถึง จึงมอบให้ไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๓๐๔ และ ๑๒๘ ไม่ผิดตามมาตรา ๓๐๖(๑)
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๓๐๖(๑)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาได้ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า คำว่า “ปลอมตัวเป็นคืนอื่น” ตามมาตรา ๓๐๖(๑) นั้น มุ่งหมายถึงการแสดงตัวให้เขาหลงเชื่อว่าเป็นคนอื่นซึ่งไม่ใช่ตัวของตัวเอง ถ้อยคำที่จำเลยหลอกลวงในคดีนี้ เป็นเรื่องหลอกลวงให้เขาหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นนายร้อยตำรวจโทจำลอง ประจำกอบสอบสวนกลาง เมื่อความจริงจำเลยมิใช่เป็นนายตำรวจโทประจำกองสอบสวนกลาง แม้จะไม่ปรากฎว่ามีนายร้อยตำรวจโทจำลองในกองสอบสวนกลางหรือไม่ จำเลยก็มีความผิดตามมาตรา ๓๐๖(๑) แล้ว
จึงพิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๓๐๖ ด้วย

Share