คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1880/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญาทรัสต์รีซีทระบุให้โจทก์มีสิทธิถอนหรือหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำพร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้โจทก์ได้ทันทีหากจำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าที่โจทก์ชำระแทนไปก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะหักเงินฝากจากบัญชีชำระหนี้แก่โจทก์ได้ทันที ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์ในการได้รับชำระหนี้บางส่วนและเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสามที่จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนต้นเงินส่วนที่ควรหักชำระหนี้ไปนั้น เมื่อไม่ได้ความว่ามีเหตุขัดข้องที่ทำให้โจทก์ไม่สามารถหักเงินฝากชำระหนี้ได้ การที่โจทก์มิได้หักเงินฝากนอกจากจะเป็นการไม่ใช้สิทธิของโจทก์ตามสัญญาแล้วยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ซึ่งประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ไม่คำนึงถึงประโยชน์ลูกค้าแต่กลับมุ่งหวังประโยชน์ในดอกเบี้ยจากลูกค้าอันเป็นการเอาเปรียบโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ถือได้ว่าการที่โจทก์ไม่หักชำระหนี้ต้นเงินบางส่วนแต่กลับมาฟ้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ควรได้รับการชำระหนี้แล้ว เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดในส่วนเฉพาะดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาขอเครดิตเพื่อรับสินค้าไปก่อนชำระเงิน (ทรัสต์รีซีท) และเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 10,863,928.93 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปีจากต้นเงิน 5,561,550 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้หัก ยึดหรือโอนเงินฝากประจำในบัญชีเงินฝากประจำของธนาคารโจทก์ สำนักงานใหญ่บัญชีเลขที่ 001-107437 ชื่อบัญชีนางสมศรี เลิศธนางกูร และจำเลยที่ 3เพื่อหักชำระหนี้แก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์มีหลักประกันจากบัญชีเงินฝากประจำที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฝากไว้กับโจทก์ ซึ่งมีข้อตกลงให้โจทก์หักเงินฝากนี้ชำระหนี้ได้และผู้ฝากเงินไม่สามารถเบิกถอนเงินนั้นได้แต่โจทก์ไม่ยอมนำหลักประกันมาหักต้นเงิน เพราะโจทก์ต้องการคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามเป็นจำนวนเงินสูง การกระทำของโจทก์เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 6,392,035.89 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 5,561,550 บาทนับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 31 มีนาคม 2541) เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระต้นเงินแก่โจทก์เสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ตามสัญญาให้นำสิทธิในเงินฝากประจำตามสมุดคู่ฝากเงินบัญชีเงินฝากประจำเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.5ข้อ 2 และสัญญาทรัสต์รีซีท เอกสารหมาย จ.9 ข้อ 7 ระบุให้โจทก์มีสิทธิถอนหรือหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้โจทก์ได้ทันทีเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้และข้อเท็จจริงได้ความว่าตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ค่าสินค้าที่โจทก์ชำระแก่ผู้ขายแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อนเป็นเงิน 340,000 มาร์กเยอรมัน คิดเป็นเงินไทย 5,561,550 บาท ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2533 แต่จำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะหักเงินฝากจากบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวจำนวน 1,500,000 บาทชำระหนี้แก่โจทก์ได้ทันที ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์ในการได้รับชำระหนี้บางส่วนและเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสามที่จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนต้นเงินส่วนที่ควรหักชำระหนี้ไปนั้น ทั้งปรากฏว่าดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยที่ 1 มีอัตราสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากที่โจทก์คิดให้แก่นางสมศรีและจำเลยที่ 3 ตามเงินฝากประจำ และไม่ได้ความว่ามีเหตุขัดข้องที่ทำให้โจทก์ไม่สามารถหักชำระหนี้จากเงินฝากประจำนั้นได้ดังนี้การที่โจทก์มิได้หักเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 นอกจากจะเป็นการไม่ใช้สิทธิของโจทก์ตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ซึ่งประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้า แต่กลับมุ่งหวังประโยชน์ในดอกเบี้ยจากลูกค้าอันเป็นการเอาเปรียบลูกค้าโดยปราศจากเหตุผลอันควรถือได้ว่าการที่โจทก์ไม่หักชำระหนี้ต้นเงินบางส่วนดังกล่าว แต่กลับมาฟ้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ควรได้รับการชำระหนี้แล้วจำนวน1,500,000 บาทนั้น เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ดังนี้ แม้โจทก์จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในส่วนต้นเงิน 1,500,000 บาท อยู่ แต่ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดในส่วนเฉพาะดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวนดังกล่าวเนื่องจากการคิดดอกเบี้ยส่วนนี้เป็นเหตุที่สืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 มาตรา 45”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 5,561,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวน 4,061,550 บาทคิดนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2533 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2533 ในอัตราร้อยละ16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2535อัตราร้อยละ 19 ต่อปี และนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ให้คิดในอัตราดอกเบี้ยทั่วไปสูงสุดหรืออัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้ตามประกาศของธนาคารโจทก์เอกสารหมาย จ.11 และที่ประกาศใหม่หลังจากนั้นตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 21.5 ต่อปี โดยให้นำเงินจำนวน1,000,000 บาท ที่บริษัทวันเฉลิม จำกัด นำมาชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1หักชำระหนี้ดอกเบี้ยด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share