แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(10) วรรคสาม จำเลยฎีกาฝ่ายเดียว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้วว่าจำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปใช้จริง คำว่า “โทรศัพท์” สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอธิบายว่า โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้านั้นไปในสายลวดไปเข้าเครื่องรับปลายทางที่จะทำหน้าที่เปลี่ยนกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งอยู่ในความครอบครองขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เช่นเดียวกับการลักกระแสไฟฟ้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 8 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2539และระหว่างวันที่ 16 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2539 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะหมายเลข 821119และหมายเลข 821145 ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยผู้เสียหายไป คิดเป็นเงิน 861 บาท และ 1,822 บาท ตามลำดับขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(10) วรรคสาม, 91 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 18 ปีรู้ผิดชอบดีแล้วจึงไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 91 เป็นความผิด 2 กระทงให้จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334ไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(10) วรรคสามจำเลยฎีกาฝ่ายเดียว จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา แต่เมื่อเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะเป็นเพียงการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์โดยไม่มีสิทธิไม่ใช่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริตนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้วว่าจำเลยเอาสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปใช้จริงคำว่า “โทรศัพท์” สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเล่มที่ 7 หน้าที่ 250 อธิบายว่า โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้านั้นไปในสายลวดไปเข้าเครื่องรับปลายทางที่จะทำหน้าที่เปลี่ยนกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่งสัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งการที่จำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งอยู่ในความครอบครองขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เช่นเดียวกับการลักกระแสไฟฟ้าตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ที่ 877/2501 ระหว่าง พนักงานอัยการกรมอัยการ โจทก์ นายฮั่วเชียงหรือฮวดเชียง แซ่เตีย กับพวกจำเลย ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5354/2539 ระหว่างอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายแมน นุ่มละมูล จำเลยที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นเรื่องจำเลยปรับจูน และก๊อปปี้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือแล้วใช้รับส่งวิทยุคมนาคมโดยอาศัยคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายที่ล่องลอยอยู่ในอากาศกรณีจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ซึ่งเป็นเรื่องลักสัญญาณโทรศัพท์ที่อยู่ภายในสายโทรศัพท์และอยู่ในความครอบครองขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์จึงชอบแล้ว
ปัญหาต่อไปมีว่า สมควรรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่เห็นว่าจำเลยเป็นนักศึกษา อายุยังน้อย ประกอบกับได้บรรเทาผลร้ายโดยชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายไปแล้วและเพิ่งกระทำความผิดครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำเห็นสมควรลงโทษปรับด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยกระทงละ 2,000 บาทอีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับกระทงละ 1,000 บาท รวม 2 กระทง ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษทุก 3 เดือนไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1