แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ย่อยาว
คดีนี้โจทย์จำเลยต่างฟ้องซึ่งกันแลกันเปน ๒ สำนวนคือนางอำภาฟ้องเรียกแหวนราคา ๒๐๐ รูเปียจากนายแถวโดยกล่าวว่านายแถวได้รับเอาแหวนไปจากเขา นายแถวให้การรับตามข้อหานางอำภา แลกลับฟ้องว่านางอำภาเปนอนุภรรยาของนายแถว นางอำภาทำชู้กับเลาซานโดยนางต๋าเปนผู้ชักสื่อ ขอให้ศาลปรับเลาซานฐานชายชู้ ปรับนางต๋าฐานผู้สมรู้ ให้ริบทรัพยนางอำภาตามบาญชีรวม ๕ อย่าง
เลาซานให้การรับว่านางอำภาเปนภรรยาจริง เพราะไม่ทราบว่ามีสามี นางอำภา นางต๋าปฏิเสธว่า นางอำภาไม่ได้เปนภรรยานายแถว ฯ
ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาแล้ว ไม่เชื่อพยานนายแถวที่เบิกความว่านางอำภาเปนภรรยานายแถว เพราะพยานล้วนเปนพวกนายแถวโดยไม่มีพยานอื่นประกอบ ซึ่งนายแถวควรหามาสืบได้ เพราะพยานกล่าวว่านางอำภาอยู่กินกับนายแถวมานานควรพยานอื่นจะรู้เห็นบ้าง กิริยาของพยานในเวลาเบิกความไม่น่าเชื่อ แลวิธีการที่นายแถวกับนางอำภาได้เสียกันตามคำพยานกล่าวดูเปนการง่ายดาย น่าจะเปนเพื่อหวังสนุกเพลิดเพลินชั่วครั้งคราว โดยไม่ตั้งใจจะเลี้ยงดูกันอย่างจริงจังฉันผัวเมีย สำนวนนายแถวจึงฟังเปนจริงไม่ได้ว่านางอำภาเปนภรรยานายแถวโดยถูกต้องด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาให้นายแถวส่งแหวนของนางอำภาคืนให้นางอำภา ถ้าไม่ได้ให้ใช้ราคา ๒๐๐ รูเปีย สำนวนที่นายแถวเปนโจทย์ให้ยกฟ้องในเรื่องชายชู้ คงให้นางอำภาส่งแหวนหมายเลข ๑ ของนายแถวให้แก่นายแถวไป ฯ
นายแถวอุทธรณ ศาลอุทธรณข้าหลวงพิเศษพิจารณาแล้วเชื่อฟังพยานนายแถวว่านางอำภาได้เปนอนุภรรยานายแถวจริงเลาซานได้นางอำภาเปนภรรยามีความผิด แลนางต๋าสมรู้เปนใจมีความผิดด้วย ให้ปรับเลาซานเปนเงิน ๑๒๘ บาท ปรับนางต๋า ๖๔ บาท เปนสินไหมกึ่ง พินัยกึ่ง ตามกฎหมายลักษณผัวเมียบท ก. แลมาตรา ๔ มาตรา ๑๐ พระราชกำหนดเก่าบทที่ ๖๕ ส่วนแหวนของนางอำภาที่อยู่กับนายแถวให้นายแถวริบได้ นอกจากนั้นให้ยกเสีย ฯ
เลาซาน นางอำภา นางต๋าทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา ฯ
กรรมการศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนแลปฤกษาคดีนี้ ได้พิเคราะห์คำพยานนายแถวที่กล่าวว่า นายแถวได้นางอำภาเปนภรรยาโดยทางเสียเงินให้นั้น ความข้อนี้ศาลจังหวัดได้ตำหนิว่าไม่ควรเชื่อฟังเปนหลักฐาน ดังกล่าวเหตุมาข้างต้นแต่ศาลอุทธรณข้าหลวงพิเศษมิเห็นด้วย ส่วยเหตุที่ศาลอุทธรณยกขึ้นอ้างนี้ ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่พอหักล้างความวินิจฉัยของศาลจังหวัดได้ จึงพิพากษาให้ยกคำตัดสินศาลอุทธรณเสีย คงยืนตามศาลจังหวัด ให้นายแถวเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนนางอำภากับพวก กับค่าทนายความรวมทั้ง ๓ ศาลเปนเงิน ๘๗ บาทด้วย ฯ
วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๓