แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในวันที่สั่งจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยมีเงินในบัญชีพอที่จะจ่ายเงินตามเช็คนั้น ถ้าหากโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินในวันนั้นก็จะได้รับเงินตามเช็ค แต่โจทก์กลับนำเช็คไปขึ้นเงินหลังวันที่สั่งจ่ายเงินตามเช็ค จึงขึ้นเงินไม่ได้เพราะเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ดังนี้ จำเลยย่อมไม่มีความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้รับเช็คของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาสุราษฎร์ธานีลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๓ จำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายต่อมาวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๒๔ โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปขอรับเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าเงินในบัญชีไม่พอหัก ทั้งนี้เพราะจำเลยทุจริตออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เช็คพิพาทลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๓ สั่งจ่ายเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย โจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีของโจทก์เมื่อวันที่ ๒๒ หรือ ๒๓ มกราคม ๒๕๒๔ เพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๒๔ ว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่าตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลย ในวันที่ ๑๕ตุลาคม ๒๕๒๓ ซึ่งตรงกับวันที่สั่งจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยมีเงินในบัญชีจำนวน๒๔๐,๑๑๖.๐๘ บาท เป็นจำนวนเพียงพอที่จะจ่ายเงินตามเช็คนั้น ถ้าหากโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินในวันนั้นก็จะได้รับเงินตามเช็ค แต่โจทก์หาได้นำเช็คไปขึ้นเงินในวันที่สั่งจ่ายตามเช็คไม่ กลับนำเช็คไปขึ้นเงินหลังวันที่สั่งจ่ายเงินตามเช็คจึงขึ้นเงินไม่ได้เพราะเงินในบัญชีไม่พอจ่าย จะฟังว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ย่อมไม่ได้ เมื่อวันที่สั่งจ่ายเงินตามเช็คจำเลยมีเงินในบัญชีเพียงพอที่จะจ่ายเงินตามเช็คนั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดดังฟ้อง ปัญหาดังวินิจฉัยนี้แม้คู่ความฝ่ายใดจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อฎีกา แต่ศาลมีอำนาจหน้าที่ต้องพิจารณาให้แน่ใจว่ามีการกระทำผิดและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗, ๑๘๕, ๒๒๕
พิพากษายืน