คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1873/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นสหภาพแรงงานซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 98 ที่จะกระทำการอันใดอันหนึ่งเพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหภาพแรงงานโดยเฉพาะ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนระเบียบใหม่ที่ออกมาใช้บังคับซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบเดิม และไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างใหม่โดยมิได้บรรยายฟ้องว่า ลูกจ้างใหม่ที่จำเลยได้ทำสัญญาจ้างภายหลังวันที่ระเบียบใหม่มีผลใช้บังคับนั้นได้เป็นสมาชิกของโจทก์ด้วยหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนระเบียบฉบับใหม่ดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นโทษต่อลูกจ้างที่เข้ามาใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๒๗ จำเลยได้ออกระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ ๒๐๒ ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๙) เป็นการขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยการแก้ไขนั้นไม่เป็นคุณยิ่งกว่า กล่าวคือระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ ๖๗ ข้อ ๑๑ และข้อ๑๓ กำหนดเงื่อนไขให้พนักงานไม่มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสอง (บำเหน็จ) และไม่มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสาม (บำนาญ) ตามลำดับเพียง ๓ ข้อ แต่ระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ ๒๐๒ กำหนดเงื่อนไขข้อ ๑๑ และข้อ ๑๓ เพิ่มอีก ๒ ข้อ คือ (๔) และ (๕) รวมเป็น ๕ ข้อ ซึ่งเป็นโทษแก่พนักงานที่เข้ามาใหม่อันเป็นการเพิ่มเงื่อนไขพนักงานใหม่ไม่มีสิทธได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองหรือประเภทสามเพิ่มอีกประเภทละ ๒ ข้อ จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ขอให้เพิกถอนระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ ๒๐๒ ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๙)
จำเลยให้การว่า กรณีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ จะต้องเป็นข้อตกลงที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องและลูกจ้างต้องลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องนั้นแต่ระเบียบการ ฯ ฉบับที่ ๖๗ ได้ใช้มาตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๖ โดยมิได้เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้อง คงมีแต่ข้อตกลงฉบับลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ที่ได้ระบุว่าให้ถือว่าระเบียบการ ฯ ฉบับที่ ๖๗ เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วย สำหรับระเบียบการ ฯ ฉบับที่ ๒๐๒ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างซึ่งเข้าใหม่ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๗ เป็นต้นไป ซึ่งลูกจ้างใหม่นี้มิได้เป็นผู้ยื่นข้อเรียกร้องหรือร่วมลงชื่อในการตั้งผู้แทนไปเจรจาด้วย กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ระเบียบการ ฯ ฉบับที่ ๒๐๒ จึงไม่มีผลกระทบถึงความเป็นลูกจ้างของพนักงานของจำเลยก่อนวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๗ แต่อย่างใด และมิใช่เป็นผู้ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ ๒๐๒ ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๙)
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า กรณีเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่าโจทก์เป็นสหภาพแรงงานซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙๘ ที่จะกระทำการอันใดอันหนึ่งเพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหภาพแรงงานโดยเฉพาะ ศาลฎีกาพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้ว ปรากฏว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า พนักงานธนาคารออมสินที่จำเลยได้ทำสัญญาจ้างภายหลังวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๗ ซึ่งเป็นวันที่ระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ ๒๐๒ ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๙) มีผลใช้บังคับนั้นได้เป็นสมาชิกของโจทก์ด้วยหรือไม่ เพราะถ้าพนักงานธนาคารออมสินดังกล่าวมิได้เป็นสมาชิกของโจทก์ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลภายนอก โจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ใด ๆ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙๘ ที่จะดำเนินการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกนั้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วเช่นนี้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share