คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1868/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยเช่าจากโจทก์ เนื่องจากจำเลยผิดสัญญาโดยนำทรัพย์สินไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง และยังปลูกสร้างอาคารหรือยินยอมให้ผู้อื่นปลูกสร้างอาคารในที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาต การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างพิจารณาขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยมิให้นำทรัพย์สินของโจทก์ออกให้บุคคลอื่นเช่าช่วงและให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามจำเลยนำทรัพย์สินของโจทก์ตามฟ้องออกให้บุคคลอื่นเช่าช่วงจนกว่าคดีถึงที่สุด เป็นคำสั่งที่ออกภายในขอบเขตตามความจำเป็นเพื่อคุ้มครองโจทก์มิให้เสียหายจากการกระทำผิดสัญญาของจำเลยต่อไปจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) ประกอบมาตรา 255

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสิบเจ็ดออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 32564, 33341 – 33363, 33376, 33379 – 33414, 84204 – 84205 และตราจองเลขที่ 103 พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือ อาคารเลขที่ 99/9 ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และอาคารอื่นซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมพรอวิเดนซ์ และให้ร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ไม่อนุญาตจากโจทก์ และปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าวด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสิบเจ็ด หากโจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายไปให้จำเลยทั้งสิบเจ็ดชดใช้คืนโจทก์ ให้จำเลยทั้งสิบเจ็ดร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนถึงวันฟ้องแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 9,202,000 บาท และในอัตราเดือนละ 740,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสิบเจ็ดจะปฏิบัติตามคำขอข้างต้น และให้จำเลยทั้งสิบเจ็ดร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 820,795.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 770,750 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสิบเจ็ดชำระค่าภาษีโรงเรือนสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 32564, 33341 – 33363, 33376, 33379 – 33414, 84204 – 84205 และตราจองเลขที่ 103 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือ อาคารเลขที่ 99/9 ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และอาคารอื่นซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมพรอวิเดนซ์และสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมในอัตราปีละ 770,750 บาท นับแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสิบเจ็ดจะปฏิบัติตามคำขอเบื้องต้นเสร็จสิ้น หากโจทก์ได้ชำระแทนไปให้จำเลยทั้งสิบเจ็ดใช้คืนให้โจทก์ ให้จำเลยทั้งสิบเจ็ดร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นรายวัน วันละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสิบเจ็ดจะส่งมอบที่ดินและอาคารของโจทก์คืนแก่โจทก์โดยปลอดภาระผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น
ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 8 กันยายน 2543 ว่า กรณีมีเหตุฉุกเฉินและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองมาใช้ จึงมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสิบเจ็ดนำทรัพย์สินของโจทก์ตามฟ้องออกให้บุคคลใดเช่าช่วงจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ส่วนคำขอให้จำเลยทั้งสิบเจ็ดรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างและคำขอห้ามจำเลยทั้งสิบเจ็ดขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านั้น เห็นว่า กรณียังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองมาใช้บังคับได้จึงเห็นควรยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้เสีย ให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหาย 200,000 บาท
จำเลยที่ 16 และที่ 17 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2544 ว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คำสั่งห้ามจำเลยทั้งสิบเจ็ดนำทรัพย์สินของโจทก์ตามฟ้องออกให้บุคคลใดเช่าช่วงจนกว่าคดีถึงที่สุดเป็นคำสั่งที่ออกภายในขอบเขตและเงื่อนไขตามความจำเป็นและเหมาะสมแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 16 และที่ 17 ค่าคำร้องเป็นพับ
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้จับกุมและกักขังผู้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชั่วคราวของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 ว่า พิเคราะห์ตามคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2544 ประกอบกับรายงานของสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ฉบับวันที่ 17 กันยายน 2544 ซึ่งแจ้งว่าหลังจากศาลออกหมายบังคับคดีห้ามชั่วคราวแล้วยังมีผู้ค้าขายรายย่อยอยู่ในที่พิพาท เห็นว่า ตามคำสั่งศาลที่ห้ามชั่วคราวไม่ให้จำเลยทั้งสิบเจ็ดนำทรัพย์สินของโจทก์ออกให้เช่าช่วงตามคำสั่งวันที่ 8 กันยายน 2543 นั้น ออกตามคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินฉบับวันที่ 6 กันยายน 2543 ของโจทก์ที่ได้อ้างไว้ว่าจำเลยทั้งสิบเจ็ดกำลังจะให้บุคคลอื่นเช่าช่วงโดยต่ออายุสัญญาเช่าช่วงในสัญญาเช่าช่วงที่จำเลยทั้งสิบเจ็ดทำกับผู้เช่าช่วงและกำลังจะสิ้นสุดสัญญาเช่าช่วงลง จึงเป็นคำสั่งห้ามนำทรัพย์สินของโจทก์ออกให้เช่าช่วงในทุกกรณี ซึ่งรวมถึงผู้เช่าช่วงเดิมด้วย กรณีเป็นที่พอใจจากหลักฐานที่ศาลสอบถามว่าจำเลยที่ 16 ที่ 17 และบริวารสามารถจะปฏิบัติตามคำสั่งได้ถ้าได้ทำโดยสุจริตกับไม่มีวิธีการบังคับอื่นที่ผู้ร้องจะใช้บังคับจึงให้กักขังจำเลยที่ 17 กับนายประมาณ เสนา ซึ่งจงใจไม่ปฏิบัติตามหมายบังคับคดีมีกำหนด 1 เดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 297 ประกอบมาตรา 259
จำเลยที่ 16 และที่ 17 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น โดยทำอุทธรณ์เป็น 2 ฉบับ ฉบับแรกอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนคำสั่งห้ามชั่วคราวของศาลชั้นต้น ส่วนฉบับที่สองอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนหรือกลังคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้กักขังจำเลยที่ 17 และนายประมาณ เสนา
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 24 ตุลาคม 2544 ที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 16 และที่ 17 ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้กักขังจำเลยที่ 17 กับนายประมาณ เสนา ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนใหม่ โดยให้โอกาสจำเลยที่ 17 และนายประมาณ เสนา นำพยานมาสืบแก้แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา
จำเลยที่ 16 และที่ 17 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 16 และที่ 17 ว่า มีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนคำสั่งห้ามชั่วคราวของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสิบเจ็ดและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ซึ่งจำเลยเช่าจากโจทก์ แต่จำเลยผิดสัญญาเช่าเพราะนำทรัพย์สินของโจทก์ดังกล่าวไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง และยังปลูกสร้างอาคารหรือยินยอมให้ผู้อื่นปลูกสร้างอาคารในที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเจ็ดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์ และเรียกค่าเสียหายด้วย การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างพิจารณา ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสิบเจ็ดมิให้นำทรัพย์สินของโจทก์ออกให้บุคคลอื่นเช่าช่วงโดยไม่ได้รับอนุญาตและให้จำเลยทั้งสิบเจ็ดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกสร้างบนที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้อง จึงมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสิบเจ็ดนำทรัพย์สินของโจทก์ตามฟ้องออกให้บุคคลอื่นเช่าช่วงจนกว่าคดีถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นให้ยก จึงเป็นคำสั่งที่ออกภายในขอบเขตตามความจำเป็นเพื่อคุ้มครองโจทก์มิให้เสียหายจากการกระทำผิดสัญญาของจำเลยทั้งสิบเจ็ดต่อไป เพราะจำเลยที่ 16 และที่ 17 ก็ยอมรับว่าได้เอาทรัพย์สินของโจทก์ออกให้ผู้อื่นเช่าช่วงจริง คำสั่งห้ามชั่วคราวของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) ประกอบมาตรา 255 แล้ว ที่จำเลยที่ 16 และที่ 17 ฎีกาขอให้เพิกถอนคำสั่งห้ามชั่วคราวของศาลชั้นต้นดังกล่าวโดยอ้างว่าโจทก์ไม่เสียหายเพราะผู้เช่าช่วงมีฐานะเป็นบริวารของจำเลยที่ 16 และที่ 17 หากโจทก์ชนะคดีก็สามารถบังคับคดีแก่จำเลยที่ 16 และที่ 17 และบริวารได้โดยไม่ยากลำบากก็ดี การนำเอาที่พิพาทออกให้เช่าช่วงเป็นการพัฒนาที่ดินของโจทก์ทำให้ที่ดินมีคุณค่าทางเศรษฐกิจก็ดี เป็นการอ้างเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 16 และที่ 17 ในการนำทรัพย์สินของโจทก์ไปหาประโยชน์ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวของจำเลยอยู่ตลอดเวลา คดีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนคำสั่งห้ามชั่วคราวของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 16 และที่ 17 ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งห้ามชั่วคราวของศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 16 และที่ 17 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา

Share