คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4128/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ ซึ่งทำขึ้นก่อนฟ้อง หลังจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตาม ได้มอบอำนาจไว้อย่างกว้างขวางและระบุไว้ชัดเจนว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีต่อสู้คดีทางอาญาและทางแพ่งอันเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในศาลได้ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงเป็นการมอบอำนาจแก่ผู้ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์แล้ว
การฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ายืนตามคำสั่งของนายทะเบียน ไม่มีบทบัญญัติใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ หรือในกฎหมายใดบัญญัติให้โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่ทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องภายหลังกำหนดดังกล่าวได้
โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่เป็นสาระสำคัญสองส่วน คือคำที่เป็นตัวอักษรโรมันสองคำรวมกันในลักษณะประดิษฐ์ คือคำว่า POPCORN อ่านว่า ป๊อบคอร์น แปลว่า ข้าวโพดคั่ว และคำว่า CHICKEN อ่านว่า ชิคเคน แปลว่าไก่ เมื่อรวมคำกันแล้วแปลว่า ไก่ข้าวโพดคั่ว เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 29 รายการสินค้า 18 รายการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ เน้นที่สัตว์ปีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไก่เป็นส่วนผสม คำว่า POPCORN CHICKEN อาจจัดอยู่ในความหมายของสินค้ารายการที่ 1) เนื้อสัตว์ 2) ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ 4) สัตว์ปีกไม่มีชีวิต 5) ผลิตภัณฑ์ทำจากสัตว์ปีก และ 6) สัตว์ล่าไม่มีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้ารายการที่ 17) อาหารที่มีไก่เป็นส่วนผสม ทั้งเมื่อพิเคราะห์เฉพาะคำว่า POPCORN มีความหมายเดียวกันกับสินค้ารายการที่ 9) ผลไม้ที่ผ่านกรรมวิธี และที่ 10) ผักที่ผ่านกรรมวิธี ส่วนลำพังคำว่า CHICKEN ก็เป็นคำสามัญในการค้าขายสินค้าตามรายการข้างต้น เครื่องหมายการค้า POPCORN CHICKEN เมื่อจะนำไปใช้กับสินค้าต่าง ๆ ตามความประสงค์ของโจทก์ดังที่แสดงออกไว้ในคำขอจดทะเบียน จึงนับได้ว่ามุ่งประสงค์ที่จะให้เล็งถึงลักษณะของสินค้าโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้ารายการที่ 17) อาหารที่มีไก่เป็นส่วนผสม จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 6 (1) หากยอมรับให้จดทะเบียนคำที่เล็งถึงลักษณะของสินค้าโดยตรงเช่นนี้ได้ย่อมจะทำให้โจทก์ผูกขาดการใช้คำสามัญที่แสดงลักษณะของการนำพืชหรือสัตว์มาทำการแปรรูปเป็นอาหาร อันเป็นการกีดกันสิทธิของบุคคลทั่วไปที่จะใช้คำเหล่านั้นโดยชอบเกี่ยวกับการค้าของตน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า กับให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “POPCORN CHICKEN” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 406422 ของโจทก์ต่อไป
จำเลยทั้งสิบให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสิบอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 1 เป็นกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่ควบคุมดูแลการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 เป็นกรรมการเครื่องหมายการค้ามีหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ในลักษณะประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 โจทก์ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อสำนักเครื่องหมายการค้ากรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยที่ 1 ตามคำขอเลขที่ 406422 ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน 2543 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ต่อมาคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสิบอ้างเป็นประการแรกว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า การฟ้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำนอกขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายนั้น เห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2545 หลังจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเป็นเวลาก่อนฟ้องคดีนี้ไม่นาน ได้มอบอำนาจให้แก่ผู้รับมอบอำนาจไว้อย่างกว้างขวางรวมทั้งได้ระบุไว้ชัดเจนว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีและต่อสู้คดีทางอาญาและทางแพ่งอันเกี่ยวกับเครื่องหมาย และเครื่องหมายการค้าที่ใช้ในทางธุรกิจการค้าต่าง ๆ ของโจทก์ในศาลได้ ดังนั้น การฟ้องคดีของผู้ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์จึงเป็นการทำไปภายในขอบอำนาจแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสิบอ้างเป็นประการที่สองว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องศาลภายหลังพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้านั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ายืนตามคำสั่งของนายทะเบียน ซึ่งการใช้สิทธิทางศาลในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทบัญญัติใดในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือในกฎหมายอื่นใดบัญญัติให้โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องภายหลังกำหนดดังกล่าวได้ กรณีจึงรับฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 406422 เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่เป็นสาระสำคัญสองส่วน คือ คำที่เป็นตัวอักษรโรมันสองคำรวมกันในลักษณะประดิษฐ์ คือคำว่า POPCORN อ่านว่า “ป๊อปคอร์น” แปลว่า ข้าวโพดคั่ว และคำว่า CHICKEN อ่านว่า “ชิคเคน” แปลว่า ไก่ เมื่อรวมคำกันแล้วแปลว่า “ไก่ข้าวโพดคั่ว” เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 29 รายการสินค้า 18 รายการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ เน้นที่สัตว์ปีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไก่เป็นส่วนผสม คำว่า POPCORN CHICKEN ซึ่งหมายถึง “ไก่ข้าวโพดคั่ว” นั้น อาจจัดอยู่ในความหมายของสินค้ารายการที่ 1) เนื้อสัตว์ ที่ 2) ผลิตภัณฑ์ทำจากเนื้อสัตว์ ที่ 4) สัตว์ปีก (ไม่มีชีวิต) ที่ 5) ผลิตภัณฑ์ทำจากสัตว์ปีก และที่ 6) สัตว์ล่า (ไม่มีชีวิต) โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความหมายตรงกันกับสินค้ารายการที่ 17) อาหารที่มีไก่เป็นส่วนผสม และที่ 18) อาหารว่างที่มีสัตว์ปีกเป็นหลัก ทั้งเมื่อพิเคราะห์เฉพาะคำว่า POPCORN ซึ่งแปลว่า ข้าวโพดคั่วนั้นก็มีความหมายเดียวกันกับสินค้ารายการที่ 9) ผลไม้ที่ผ่านกรรมวิธี และรายการที่ 10) ผักที่ผ่านกรรมวิธี เพราะข้าวโพดคั่วเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ได้จากการนำเมล็ดข้าวโพดซึ่งเป็นส่วนของผลที่ได้จากไม้ล้มลุกประเภทหนึ่งมาผ่านกรรมวิธีในการผลิตและปรุงรส ส่วนลำพังคำว่า CHICKEN ก็เป็นคำสามัญในการค้าขายสินค้าตามรายการข้างต้น ดังนั้น เครื่องหมายการค้า ซึ่งมีส่วนที่เป็นสาระสำคัญสองส่วนคือคำว่า POPCORN หรือข้าวโพดคั่ว และคำว่า CHICKEN หรือไก่ รวมกันแล้วหมายถึง ไก่ข้าวโพดคั่ว นั้น เมื่อจะนำไปใช้กับสินค้าต่าง ๆ ตามความประสงค์ของโจทก์ดังที่โจทก์แสดงออกไว้ในคำขอจดทะเบียนจึงนับได้ว่ามุ่งประสงค์ที่จะให้เล็งถึงลักษณะของสินค้าโดยตรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ารายการที่ 17) อาหารที่มีไก่เป็นส่วนผสม จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 6 (1) หากยอมรับให้จดทะเบียนคำที่เล็งถึงลักษณะของสินค้าโดยตรงเช่นนี้ได้ย่อมจะทำให้โจทก์ผูกขาดการใช้คำสามัญที่แสดงลักษณะของการนำพืชหรือสัตว์มาทำการแปรรูปเป็นอาหาร อันเป็นการกีดกันสิทธิของบุคคลทั่วไปที่จะใช้คำเหล่านั้นโดยชอบเกี่ยวกับการค้าของตน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 406422 ของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นนี้ 1,500 บาท แทนจำเลยทั้งสิบ.

Share