แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บริเวณที่เกิดเหตุเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติชื่อป่าขุนซ่องซึ่งการกำหนดเขตป่าสงวนดังกล่าวได้ออกเป็นกฎกระทรวงและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งได้ปิดประกาศให้ ประชาชนทั่วไปทราบแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่เขตป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณนี้มีราษฎรเข้าทำประโยชน์อยู่ทั่วไป โดยทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลังและไร่ต้นยูคาลิปตัส ซึ่งทางกรมป่าไม้และ ฝ่ายปกครองอนุโลมผ่อนผันให้ราษฎรที่ทำประโยชน์อยู่แล้วได้ทำ ประโยชน์ต่อไปเป็นแต่ไม่ให้บุกรุกป่าเพิ่มขึ้น ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันจะได้รับหนังสือสิทธิทำกิน บริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่ผ่านการทำประโยชน์มาแล้ว สภาพทั่วไปมีแต่กิ่งไม้ ตอไม้จะมีต้นไม้ขึ้นบ้างเป็นต้นเล็ก ๆ แสดงว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็น ที่ดินที่ได้รับการผ่อนผันให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ได้ จำเลยที่ 1 เป็นคนอยู่นอกพื้นที่ห่างไกลจากเขตป่าสงวนแห่งชาติบริเวณ ที่เกิดเหตุมีอาชีพรับจ้างขับรถ แบคโฮ ขุดสระน้ำและไถดิน เมื่อ จำเลยที่ 3 ว่าจ้างมาขุดสระน้ำในไร่อ้อยของจำเลยที่ 3 ทั้งบริเวณใกล้เคียงก็ล้วนเป็นที่ดินทำไร่มีผู้ครอบครอง หลังจากขุด สระน้ำให้จำเลยที่ 3 เสร็จแล้วก็ถูกว่าจ้างให้เข้าไปไถในบริเวณ ที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับที่ดินไร่อ้อยของจำเลยที่ 3 อีก ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจได้ว่าที่เกิดเหตุ เป็นที่ดินที่มีผู้ครอบครองที่จะนำรถขุดเข้าไปไถได้เช่นที่ จำเลยที่ 3 ให้ขุดสระน้ำในไร่อ้อยของจำเลยที่ 3 ซึ่งในชั้นจับกุม และชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ก็ให้การยืนยันว่ามีผู้ว่าจ้าง ให้เข้าไปไถดินในบริเวณที่เกิดเหตุ ทำให้เห็นว่าจำเลยที่ 1ได้กระทำไปโดยสำคัญผิดเข้าใจว่าสามารถที่จะเข้าไปไถที่บริเวณที่เกิดเหตุได้ เป็นการขาดเจตนา การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54, 72 ตรีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 83, 84 ให้จำเลย คนงานผู้รับจ้างผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14,31 วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง,72 ตรี วรรคสอง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปีจำเลยที่ 1 รับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ให้จำเลยที่ 1 คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยที่ 1 ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมยึดรถแบคโฮ ที่จำเลยที่ 1 กำลังขับไถบริเวณที่เกิดเหตุป่าขุนซ่อง ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในหมู่ที่ 1 ตำบลขุนซ่องอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี นำส่งพนักงานสอบสวนต่อมาจำเลยที่ 3 ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1และที่ 2 ให้นำรถแบคโฮ ไปไถบริเวณที่เกิดเหตุดังกล่าวเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนจำเลยทั้งสามจึงถูกกล่าวหาร่วมกันกระทำผิดคดีนี้ แต่เนื่องจากคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีคู่ความใดอุทธรณ์ฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติชื่อป่าขุนซ่อง ซึ่งการกำหนดเขตป่าสงวนดังกล่าวได้ออกเป็นกฎกระทรวงและประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2510 ทั้งได้ปิดประกาศให้ประชาชนทั่วไปทราบแล้วตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1ได้ทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ จะอ้างว่าไม่ทราบไม่ได้ดังเช่นโจทก์ฎีกาก็ตาม แต่จากคำเบิกความของนายสุรศักดิ์ ไชยชนะ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ประจำสำนักงานป่าไม้กิ่งอำเภอแก่งหางแมว นายบุญส่ง ขำสุวรรณ ปลัดอำเภอแก่งหางแมวและร้อยตำรวจเอกภูวดล วรรณา ผู้จับกุมจำเลยพยานโจทก์ได้ความต้องกันว่า เขตป่าสงวนแห่งชาติบริเวณนี้มีราษฎรเข้าทำประโยชน์อยู่ทั่วไป โดยทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลังและไร่ต้นยูคาลิปตัสซึ่งทางกรมป่าไม้และฝ่ายปกครองอนุโลมผ่อนผันให้ราษฎรที่ทำประโยชน์อยู่แล้วได้ทำประโยชน์ต่อไปเป็นแต่ไม่ให้บุกรุกป่าเพิ่มขึ้นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันจะได้รับหนังสือสิทธิทำกิน ซึ่งก็ปรากฏว่าบ้านของนายเสมียน สมิง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 พยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติแห่งนี้เช่นกันและบริเวณที่เกิดเหตุก็อยู่ห่างจากบ้านของนายเสมียน เพียงประมาณ3 กิโลเมตรเท่านั้น โดยมีถนนสาธารณะผ่านไปถึงด้วยนอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงก็เป็นไร่อ้อยและไร่ต้นยูคาลิปตัสอันแสดงว่าที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่องที่อยู่ในท้องที่หมู่ที่ 9 ตำบลขุนซ่อง มีราษฎรเข้าครอบครองทำประโยชน์อยู่ทั่วไป นายเสมียนผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ซึ่งบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ในปกครองได้เบิกความยืนยันว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นป่าซากหมายถึงเป็นที่ดินที่ผ่านการทำประโยชน์มาแล้วร้อยตำรวจเอกภูวดลและโดยเฉพาะร้อยตำรวจเอกสุรศักดิ์ ใจซื่อ พนักงานสอบสวนไปตรวจที่เกิดเหตุก็เบิกความเป็นการสนับสนุนคำเบิกความของนายเสมียนว่า บริเวณที่เกิดเหตุโดยทั่วไปเป็นที่ดินที่ผ่านการทำประโยชน์มาแล้ว สภาพทั่วไปมีแต่กิ่งไม้ ตอไม้ จะมีต้นไม้ขึ้นบ้างก็เป็นต้นเล็ก ๆ ซึ่งแสดงว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่ได้รับการผ่อนผันให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ได้ จำเลยที่ 1เป็นคนอยู่นอกพื้นที่ห่างไกลจากเขตป่าสงวนแห่งชาติบริเวณที่เกิดเหตุมีอาชีพรับจ้างขับรถแบคโฮ ขุดสระน้ำและไถดิน เมื่อจำเลยที่ 3ว่าจ้างมาขุดสระน้ำในไร่อ้อยของจำเลยที่ 3 ทั้งบริเวณใกล้เคียงก็ล้วนเป็นที่ดินทำไร่มีผู้ครอบครอง หลังจากขุดสระน้ำให้จำเลยที่ 3 เสร็จแล้วก็ถูกว่าจ้างให้เข้าไปไถในบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับที่ดินไร่อ้อยของจำเลยที่ 3 เช่นนี้ ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจได้ว่าที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่มีผู้ครอบครองที่จะนำรถขุดเข้าไปไถได้เช่นที่จำเลยที่ 3 ให้ขุดสระน้ำในไร่อ้อยของจำเลยที่ 3 ทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ก็ได้ให้การยืนยันว่ามีผู้ว่าจ้างให้เข้าไปไถดินในบริเวณที่เกิดเหตุ และข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งเข้าไปไถก็ถูกจับในวันนั้นเอง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 1 จะไถที่ได้ไปแล้วเป็นบริเวณถึง 400 ไร่ ตามฟ้อง ประกอบกับร้อยตำรวจเอกสุรศักดิ์พยานโจทก์ยังเบิกความรับว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ก็ไม่ทราบว่าที่ดินส่วนไหนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติด้วย เช่นนี้ กรณีจึงทำให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปโดยสำคัญผิดเข้าใจว่าสามารถที่จะเข้าไปไถที่บริเวณที่เกิดเหตุได้ เป็นการขาดเจตนา การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นความผิดตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน