คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1867/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์อ้างว่า ต. หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ซ. ได้ โอนเงินเข้าบัญชีโจทก์เป็นเงิน764,268 บาท โดยเข้าใจผิดว่ามีการซื้อ ขายไม้กัน แต่ เมื่อโจทก์ ทราบเรื่องก็ได้จ่าย เงินจำนวน 764,268 บาท คืนในวันเดียวกัน โดย สั่งจ่ายเป็นเช็ค เงินสดแก่ผู้ถือ จึงไม่อาจชี้ ได้ ว่าใครเป็น ผู้รับเงินตาม เช็คฉบับ นี้คงมีแต่ ลายเซ็นภาษาจีนที่ด้านหลังเช็ค ซึ่ง มีลักษณะไม่ตรง กับลายเซ็นตัวอย่างของ ต. ที่มอบไว้แก่ธนาคารพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า ต. เป็นผู้รับเงินไป ถือ ว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายซึ่ง ผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ จึงถือ เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิจะนำเงินจำนวน 764,268 บาท มาหักออกจากรายรับได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2528 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยแจ้งให้โจทก์ไปชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2523 พร้อมเงินเพิ่ม โดยอ้างว่าโจทก์แสดงยอดรายได้ในบัญชีทำการต่ำกว่ารายรับตามแบบ ภ.ค.4 เป็นเงิน 1,850,050.66 บาท และมีรายจ่ายต้องห้ามเป็นเงิน 106,898 บาท เจ้าพนักงานประเมินได้ปรับปรุงค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 3,117.45 บาท คำนวณแล้วโจทก์จะมีกำไรสุทธิ เป็นเงิน 12,768,342.50 บาท โจทก์ต้องเสียภาษีเพิ่มพร้อมเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 1,055,068.96 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าว และได้อุทธรณ์การประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วให้โจทก์ชำระเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเงินเพิ่ม รวมเป็นเงิน 694,737.40 บาทการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยดังกล่าวยังไม่ถูกต้องกล่าวคือในรอบระยะเวลาบัญชี 2523 โจทก์มีรายได้จากการจำหน่ายไม้ซุง 26,883,389.15 บาท และในการคำนวณกำไรสุทธิ โดยนำรายจ่ายต้องห้าม จำนวน 103,780.55 บาท มารวมเป็นรายได้แล้วจะมีกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว 10,961,261.79 บาท เป็นเงินค่าภาษีพร้อมเงินเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระเพียง 79,243.36 บาท ฉะนั้นการที่เจ้าพนักงานของจำเลยทำการประเมินให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่มเป็นเงิน 694,737.40 บาท จึงเป็นการประเมินที่ไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับเงินที่โจทก์จ่ายคืนเป็นค่าไม้ เจ้าพนักงานประเมินอ้างว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับนั้น ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2523 นายตั้งฟูหรือโกเอ๋ง แซ่ด่าน เจ้าของโรงเลื่อยเซียมเฮงล้งได้โอนเงินผิดบัญชีเข้าบัญชีโจทก์ 764,268 บาท โจทก์ได้คืนเงินดังกล่าวแก่นายตั้งฟูหรือโกเอ๋ง แซ่ด่าน ไปในวันที่นำเงินเข้าบัญชีโจทก์ผิดนั้นเอง และในเดือนพฤศจิกายน 2523 มีผู้จ่ายค่าไม้แก่โจทก์เกินและต้องคืนให้ไป เป็นเงิน 5,800 บาท เงินที่โจทก์คืนไปดังกล่าวข้างต้นโจทก์ย่อมนำมาถือเป็นรายจ่ายได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินไม่ยอมให้ถือเป็นรายจ่ายจึงไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และมีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิจิบุคคล และเงินเพิ่ม เป็นเงิน 79,243.36บาท
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินได้เรียกตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2522-2523 และจากการตรวจสอบปรากฏว่าโจทก์ลงรายได้ในแบบ ภ.ค.4 และ ภ.ง.ด.5 ไม่ตรงกับรายรับตามใบเสร็จรับเงินกล่าวคือ ในแบบ ภ.ง.ด.5 โจทก์ลงรายรับไว้ 26,676,660.05 บาทรายรับตามแบบ ภ.ค.4 โจทก์ลงไว้เป็นเงิน 28,526,710.71 บาท แต่จากเอกสารใบเสร็จรับเงินของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์มีรายรับ27,859,430.05 บาท ยอดรายรับตามที่ตรวจพบดังกล่าวไม่ตรงกันเจ้าพนักงานประเมินจึงถือเอาจำนวนเงินที่ปรากฏในแบบ ภ.ค.4 ซึ่งเป็นรายรับสูงสุดของโจทก์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2523 แต่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.5 เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวเป็นเงิน 26,676,660.05 บาท ฉะนั้นย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่นำรายรับไปลงบัญชีเป็นเงิน 1,850,050.66 บาท เจ้าพนักงานของจำเลยได้วิเคราะห์เงินที่โจทก์ไม่นำลงบัญชีดังกล่าวนั้นเนื่องจากโจทก์ลงบัญชีไม่ตรงกับใบเสร็จ และไม่ลงบัญชี 3 รายการคือหลักฐานตามใบเสร็จเป็นเงิน 205,800 บาท แต่ลงบัญชีเพียง105,800 บาท หลักฐานตามใบเสร็จเป็นเงิน 463,691 บาท แต่โจทก์ลงบัญชีเพียง 462,691 บาท และหลักฐานตามใบเสร็จเป็นเงิน 205,780บาท แต่โจทก์ไม่ลงบัญชีสำหรับเงินที่โจทก์อ้างว่าจ่ายคืนให้กับผู้ซื้อไม้มี 3 ราย คือ จ่ายคืนแก่โรงเลื่อยไทยไพบูลย์ จำนวน106,722 บาท นายกวง จำนวน 5,000 บาท และเซียมเฮงล้งจำนวน 764,268 บาท โจทก์ไม่มีหลักฐานยืนยันการคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อไม้ทั้งสามรายดังกล่าวจึงต้องถือว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า โจทก์ลงรายได้ตามที่แสดงไว้ในแบบ ภ.ค.4 เกินไปเพราะเหตุใดและจากการตรวจสอบยังพบว่าโจทก์มีรายจ่ายต้องห้ามคือทรัพย์สินที่นำมาเป็นค่าใช้จ่าย 33,745 บาท ค่างานการกุศลไม่มีใบสำคัญจ่าย 6,720 บาท และค่ารับรองไม่ถือเป็นรายจ่าย 66,433 บาทเจ้าพนักงานประเมินได้ปรับปรุงรายได้และรายจ่ายแล้ว ปรากฏว่าในรอบระยะเวลาบัญชี 2523 โจทก์มียอดรายรับ 12,771,459.95 บาท หักด้วยค่าเสื่อมทรัพย์สินที่นำมาลงเป็นค่าใช้จ่าย 3,117.45 บาท แล้วโจทก์มีกำไรสุทธิที่จะต้องนำไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเงิน12,768,342.50 บาท คิดเป็นเงินค่าภาษีในอัตราร้อยละ 45 แล้วเป็นเงิน 5,745,755.13 บาท โจทก์ได้ชำระค่าภาษีไว้แล้วเป็นเงิน4,866,530 บาท ฉะนั้นโจทก์จะต้องชำระเงินค่าภาษีเพิ่มเป็นเงิน879,224.13 บาท กับต้องชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 อีก175,844.83 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระทั้งสิ้น 1,055,068.96 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า รายรับที่โจทก์ไม่ได้นำมาคำนวณเงินได้นิติบุคคลปี 2523 เป็นเงิน 1,182,770 บาท ซึ่งเป็นยอดเงินที่โจทก์จ่ายคืนให้โรงเลื่อยจักรไทยไพบูลย์ 106,722 บาท จ่ายคืนนายกวง 5,000 บาท จ่ายคืนโรงเลื่อยเซียมเฮงล้ง 764,268 บาทโจทก์ลงบัญชีต่ำกว่าใบเสร็จและไม่ลงบัญชี 306,780 บาท โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการคืนเงินกันจริง จึงได้ทำการปรับปรุงรายได้และรายจ่ายแล้ว โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีเพิ่มเติม 694,737.40 บาทคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะในส่วนที่ไม่ยอมให้โจทก์นำเงินจำนวน 764,268 บาท มาหักออกจากรายรับจำนวน27,859,430.05 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว สำหรับเงินจำนวน 764,268 บาท ตามใบเสร็จเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 12-13เป็นเงินที่โจทก์รับจากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโรงเลื่อยเซียมเฮงล้ง และตามคำเบิกความของนางสาวบัวสวรรค์วิศิษฐ์พาณิชย์ ประกอบกับเอกสารหมาย จ.3 ปรากฏว่าได้โอนเข้าบัญชีโจทก์ นางสาวเพียรพร จำเริญพฤกษ์ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลย ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าโจทก์มีรายรับตามใบเสร็จ และโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับไป จึงไม่ถือเป็นรายจ่ายอันจะนำมาหักค่าใช้จ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิได้ แต่โจทก์อ้างว่าได้จ่ายคืนให้ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโรงเลื่อยเซียมเฮงล้งแล้ว โดยมีนายตั้งฟูหุ้นส่วนผู้จัดการรับไป เพราะเงินจำนวนนี้มีการเข้าใจผิดว่าซื้อขายไม้กัน จึงได้โอนเข้าบัญชีโจทก์และโจทก์ได้ออกใบเสร็จให้ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 12-13 เมื่อทราบเรื่องก็จ่ายเงินคืนในวันโอนเข้าบัญชี กรณีเช่นนี้โจทก์จะมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงิน ตามมาตรา 65 ตรี(18) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งโจทก์มีนายบรรจบ อธิพงศ์วณิช และนางสุกีสุริยะวงศ์กุล เป็นพยานเบิกความประกอบเอกสารว่า เงินดังกล่าวโจทก์ได้จ่ายเช็คตามเอกสารหมาย จ.4 คืนให้ไปแล้วนายตั้งฟูหรือโกเอ๋งหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโรงเลื่อยเซียมเฮงล้งเป็นผู้รับ แต่นายตั้งฟูหรือโกเอ๋งได้ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2525 จึงไม่สามารถนำตัวมายืนยันได้ และบัญชีโจทก์ที่ธนาคารทำไว้ตามเอกสารหมาย จ.3 มีทั้งนำเงินเข้าและถอนเงินออกในวันที่ 9 ตุลาคม 2523 จำนวน 764,268 บาท เท่ากันตามหลักฐานเหล่านี้แม้โจทก์จะมีพยานบุคคลมายืนยันว่า นายตั้งฟูหรือโกเอ๋งรับเงินไปแต่ในเช็คเอกสารหมาย จ.4 โจทก์จ่ายเงินสดแก่ผู้ถือ จึงไม่อาจชี้ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินตามเช็คฉบับนี้ คงมีแต่ลายเซ็นภาษาจีนที่ด้านหลังเช็คตามเอกสารหมาย จ.4 หรือล.3 แผ่นที่ 34 ซึ่งนายบรรจบพยานโจทก์เบิกความว่า ผู้รับเงินได้เซ็นชื่อไว้ด้านหลังเช็ค และนางสุกีเบิกความว่า นายตั้งฟูหรือโกเอ๋งหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโรงเลื่อยเซียมเฮงล้งได้ลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังเช็ค เป็นการยืนยันว่าด้านหลังเช็คเป็นลายเซ็นของนายตั้งฟูหรือโกเอ๋ง แต่ลายเซ็นดังกล่าวเมื่อตรวจดูกับลายเซ็นตัวอย่างที่นายตั้งฟูหรือโกเอ๋งให้ไว้กับธนาคารตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 28 ปรากฏว่า ไม่เหมือนกันและนางสาวบัวสวรรค์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจำกัด สาขาเพชรบูรณ์ได้เบิกความว่าเมื่อตรวจเปรียบเทียบลายเซ็นในเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 28 และ 34 แล้วเห็นว่า ไม่เหมือนกันฉะนั้นหลักฐานเอกสารที่โจทก์นำสืบมาไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าผู้รับเงินตามเช็คดังกล่าวจะเป็นนายตั้งฟูหรือโกเอ๋ง ส่วนหลักฐานทางบัญชีโจทก์ไม่สืบให้ปรากฏพอที่จะรับฟังได้ว่านายตั้งฟูหรือโกเอ๋งเป็นผู้รับเงินไป คงมีแต่คำพยานบุคคลคือนายบรรจบและนางสุกีว่าผู้รับเงินได้ลงชื่อไว้ด้านหลังเช็คกับนางสาวบัวสวรรค์ว่า เห็นนายตั้งฟูหรือโกเอ๋งไปที่ธนาคารในวันที่รับเงินตามเช็ค แต่เมื่อลายเซ็นผู้รับเงินด้านหลังเช็คไม่ตรงกับลายเซ็นตัวอย่างของนายตั้งฟูหรือโกเอ๋งที่มอบไว้แก่ธนาคาร โดยไม่ปรากฏว่านายตั้งฟูหรือโกเอ๋งจะเซ็นหรือเขียนชื่อหลายอย่าง หลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือพอจะรับฟังได้ว่า นายตั้งฟูหรือโกเอ๋งเป็นผู้รับเงินไป เมื่อเป็นเช่นนี้ถือว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นนายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ จึงไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ โจทก์ไม่มีสิทธิจะนำเงินจำนวน 764,268 บาท มาหักออกจากรายรับได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ กค.0846/1437ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2531 ในส่วนที่ไม่ยอมให้โจทก์นำเงินจำนวน764,268 บาท มาหักออกจากรายรับจำนวน 27,859,430.05 บาทเสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 800 บาท”

Share