คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย กรณีไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ทั้งเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเป็นจำนวนเดียวกันเพียงแต่บรรจุหีบห่อไว้แยกต่างหากจากกัน เมื่อเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เกินกว่า 20 กรัม จึงเป็นความผิดตามมาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 5, 6, 13 ทวิ, 89 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบเมทแอมเฟตามีน อีเฟดรีน เงินสดและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง กับให้นับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1065/2549 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสองและวรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิต และปรับคนละ 3,000,000 บาท จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 (2) คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 1,500,000 บาท หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ในกรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังจำเลยทั้งสามเป็นเวลาคนละ 2 ปี ริบของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1065/2549 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่นั้น ปรากฏว่า คดีดังกล่าวยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ตามขอ คำขอส่วนนี้และคำขออื่นให้ยก (ที่ถูก ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง)
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วย ยกคำร้องขอริบเงินสดจำนวน 26,870 บาท ของกลางให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจและทหารร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสามพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน จำนวน 4,150 เม็ด น้ำหนักรวม 381.72 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนหนัก 85.169 กรัม และเป็นสารบริสุทธิ์ของอีเฟดรีนหนัก 0.766 กรัม ซึ่งซุกซ่อนอยู่ในหม้อกรองอากาศของรถยนต์หมายเลขทะเบียน กจ 5442 เชียงใหม่ ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ เงินสด 26,870 บาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 3 เครื่อง เป็นของกลาง จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 3 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 3 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาหรือไม่ จากพฤติการณ์และเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นจึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 3 ในการซื้อและมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนของกลางดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ลำพังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 นั่งมาในรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับและพบเมทแอมเฟตามีนของกลางเท่านั้น กรณีจึงอาจเป็นดังที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ก็ได้ เมื่อโจทก์ไม่อาจนำสืบให้ได้ความมั่นคงว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 2 รายการ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 66 วรรคสอง และวรรคสาม โดยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย กรณีไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ทั้งเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเป็นจำนวนเดียวกัน เพียงแต่บรรจุหีบห่อไว้แยกต่างหากจากกัน เมื่อเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เกินกว่า 20 กรัม จึงเป็นความผิดตามมาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 กับริบเงินสดจำนวน 26,870 บาท ของกลาง ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share