แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ประกันได้ ยื่นคำร้องต่อ ศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน2532 ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ยึดทรัพย์ของผู้ประกันโดย ไม่ถูกต้อง แสดงว่าผู้ประกันทราบเรื่องการยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งแต่ วันที่ 20 เมษายน 2532 การที่ผู้ประกันมายื่นคำร้องต่อ ศาลชั้นต้นขอให้ยกเลิกคำสั่งยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2532 จึงเป็นการยื่นเมื่อเกินกำหนด 8 วันแล้วผู้ประกันจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกกระบวนวิธีการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ประกอบป.วิ.อ. มาตรา 249.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ผู้ประกัน ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราว ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกัน ตีราคา 150,000 บาท ต่อมาผู้ประกันผิดสัญญาประกันศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกัน 150,000 บาท ต่อมาผู้ประกันได้นำตัวจำเลยมาส่งศาล และยื่นคำร้องขอลดค่าปรับ ศาลชั้นต้นลดค่าปรับให้เหลือเพียง 37,500 บาท ผู้ประกันอุทธรณ์ขอลดค่าปรับลงอีกศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ประกันฎีกา ศาลฎีกาลดค่าปรับเหลือเพียง20,000 บาท ในระหว่างที่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ผู้ประกันไม่ยอมชำระค่าปรับ ศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ของผู้ประกันเพื่อขายทอดตลาดแต่ยังไม่ทันขายทอดตลาด ผู้ประกันได้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาฎีกา และร้องขอคืนหลักทรัพย์ที่ใช้ประกันจำเลยศาลชั้นต้นสั่งให้ไปติดต่อกับเจ้าพนักงานบังคับคดีเพราะจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการถอนการยึด ผู้ประกันยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2532 ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ของผู้ประกันโดยไม่ถูกต้อง ผู้ประกันจึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการถอนการยึด และขอให้ศาลสั่งยกค่าธรรมเนียมถอนการยึดศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 8พฤษภาคม 2532 ใหม่ว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมคืนหลักทรัพย์ให้ โดยอ้างว่าจะต้องชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์เสียก่อน หากไม่ชำระจะทำการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายและการยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ถูกต้อง เพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2530 และได้ยึดทรัพย์ในขณะที่คดียังไม่เสร็จเด็ดขาด ขอให้สั่งยกเลิกคำสั่งยึดทรัพย์รายนี้และคืนหลักทรัพย์แก่ผู้ประกันด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การยึดทรัพย์ของผู้ประกันเพื่อชำระค่าปรับ หากถอนการยึด ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์ที่ยึด คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบแล้ว ที่ผู้ประกันอ้างว่าการยึดทรัพย์ไม่ถูกต้อง กรณีต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 249 ผู้ประกันทราบการยึดทรัพย์ดังกล่าวเกิน 8 วันแล้ว จึงให้ยกคำร้อง
ผู้ประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อที่ผู้ประกันฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่ามีการขอทุเลาการบังคับแล้ว ก็ยังไปยึดทรัพย์ของผู้ประกันอีก ในการยึดทรัพย์เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งให้ผู้ประกันทราบ การกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ และแสดงถึงเจตนาอันไม่สุจริต ผู้ประกันทราบถึงการปฏิบัติอันไม่ถูกต้องของเจ้าพนักงานบังคับคดีในวันขอถ่ายเอกสาร คือในวันที่3 พฤษภาคม 2532 และในวันที่ 8 พฤษภาคม 2532 ผู้ประกันจึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ยกเลิกคำสั่งยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงยังไม่เกิน 8 วัน นับแต่วันทราบการปฏิบัติของเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ประกันได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2532 ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ของผู้ประกันโดยไม่ถูกต้องพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า ผู้ประกันทราบเรื่องการยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2532 การที่ผู้ประกันมายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ยกเลิกคำสั่งยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2532 จึงเป็นการยื่นเมื่อเกินกำหนด 8 วันแล้ว ผู้ประกันจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกกระบวนวิธีการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 249…”
พิพากษายืน.