คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18632/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่างานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำเป็นงานขนส่งทางบกและจำเลยไม่ได้ตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสอง แม้โจทก์ทั้งสี่สิบสองจะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาก็ตามแต่ก็มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (9) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานหากโจทก์ทั้งสี่สิบสองได้ทำงานล่วงเวลา หาใช่ว่าเมื่อลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแล้วจะถูกตัดสิทธิมิให้ได้รับค่าจ้างธรรมดาไปด้วยไม่
เมื่อศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนเพียงพอที่ศาลฎีกาจะพิพากษาถึงการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาให้โจทก์แต่ละคนได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนว่าได้ทำงานล่วงเวลาหรือไม่ ทำงานล่วงเวลาจำนวนกี่ชั่วโมง ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยชั่วโมงละเท่าใด กรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีส่วนนี้ใหม่ตามรูปคดี ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม

ย่อยาว

รายชื่อโจทก์ปรากฏตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง เว้นแต่ นายอำนาจ โจทก์ที่ 19 ที่ถูกเป็น นายอำนาจ โดยนางปราณี ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน นายอนนท์ โจทก์ที่ 47 ที่ถูกเป็น นายอนนท์หรืออนนต์ โจทก์ที่ 47
คดีทั้งสี่สิบสองสำนวนนี้เดิมศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 2618/2555, 2664/2555, 2835 – 2839/2555 และ 3190/2555 ของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกโจทก์ทั้งห้าสิบเรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 50 ตามลำดับ แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วโดยการถอนฟ้องและศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีทั้งสี่สิบสองสำนวนนี้
โจทก์ทั้งสี่สิบสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าขาดรายได้ที่ถูกพักงาน คืนเงินที่หักจากค่าจ้างเป็นค่าล้างรถยนต์ ค่าปรับที่ไม่ลงชื่อในเอกสาร กรณีจอดรถยนต์หยุดพักระหว่างขับรับส่งผู้โดยสาร ค่าอุบัติเหตุจากการขับรถยนต์และเงินประกันการทำงาน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองตามคำขอของโจทก์แต่ละคน และยกเลิกระเบียบข้อบังคับที่เอาเปรียบลูกจ้าง
จำเลยทั้งสี่สิบสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้โจทก์ที่ 2 ที่ 12 ที่ 16 ถึงที่ 18 ที่ 20 ที่ 26 และที่ 47 ชดใช้ค่าเสื่อมสภาพและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์วันละ 4,000 บาท และรถยนต์ต้องเสียสภาพในการซ่อมครั้งละ 3,000 บาท สำหรับโจทก์แต่ละคน
โจทก์ที่ 2 ที่ 12 ที่ 16 ถึงที่ 18 ที่ 20 ที่ 26 และที่ 47 ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสี่สิบสองแถลงสละประเด็นที่เรียกร้องเงินที่จำเลยหักเป็นค่าล้างรถยนต์ เงินประกันการทำงาน ประเด็นข้อต่อสู้ว่าฟ้องแย้งขาดอายุความ และประเด็นที่มีคำขอให้ยกเลิกระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่เอาเปรียบลูกจ้าง โจทก์ที่ 12 และที่ 18 แถลงสละประเด็นที่เรียกร้องเงินที่จำเลยหักเป็นค่าปรับที่ไม่ลงชื่อในเอกสาร และโจทก์ที่ 17 และที่ 18 แถลงสละประเด็นที่เรียกร้องเงินที่จำเลยหักกรณีจอดรถยนต์หยุดพักระหว่างขับรับส่งผู้โดยสาร
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 20,490 บาท โจทก์ที่ 20 และที่ 26 จำนวน 6,000 บาท (ที่ถูกเป็น คนละจำนวน 6,000 บาท) โจทก์ที่ 12 ที่ 17 ที่ 18 และที่ 47 จำนวน 3,000 บาท (ที่ถูกเป็น คนละจำนวน 3,000 บาท) และโจทก์ที่ 16 จำนวน 12,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ฟ้องแย้งและคำขออื่นของโจทก์ทั้งสี่สิบสองนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสี่สิบสองและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 19 ถึงแก่ความตาย นางปราณี มารดาของโจทก์ที่ 19 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า ตามข้อบังคับของจำเลยหมวดที่ 2 ข้อ 14 และ 15 กำหนดวันทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ (อาจมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของงานสำหรับบางตำแหน่ง) เวลาทำงานปกติ 8.30 ถึง 17 นาฬิกา สำหรับกะจะมีชั่วโมงทำงานเปลี่ยนแปลงไป กะปกติเวลา 8.30 ถึง 17 นาฬิกา กะเช้าเวลา 8 ถึง 17 นาฬิกา กะบ่ายเวลา 16.55 ถึง 1.30 นาฬิกา และกะดึกเวลา 0.30 ถึง 8.10 นาฬิกา โจทก์ทั้งสี่สิบสองกับจำเลยตกลงกำหนดเวลาทำงานวันละ 24 ชั่วโมง แต่จำเลยกำหนดให้โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำงาน 3 วัน หยุด 3 วัน บางครั้งลูกจ้างที่อยู่ไกลจะขอพักเพียงวันเดียวแล้วขอทำงานต่อ ซึ่งการทำงานลูกจ้างไม่ได้ขับรถยนต์ตลอด 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ตามรายงานการเดินรถประจำวัน โจทก์ทั้งสี่สิบสองได้รับค่าจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้คือเป็นเงิน 12 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้จากการขับรถยนต์รับส่งผู้โดยสารทั้งเดือน จำเลยไม่ได้ตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาในการทำงานล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้าง แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อกิจการของจำเลยและงานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำเป็นงานขนส่งทางบกซึ่งมีบัญญัติไว้เป็นกฎกระทรวงเพราะสภาพการจ้างและการทำงานแตกต่างจากการจ้างงานทั่วไปที่ต้องการให้เกิดความปลอดภัยไม่เฉพาะผู้ขับแต่เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนด้วย ดังนั้นการกำหนดเวลาทำงานล่วงเวลาของจำเลยกับโจทก์ทั้งสี่สิบสองจึงเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ในข้อ 2 และข้อ 6 ที่กำหนดเวลาทำงานปกติของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง และห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง โดยจะทำงานล่วงเวลาได้วันหนึ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมง และได้รับค่าจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลา อย่างไรก็ตามงานขับรถยนต์รับส่งผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิมีลักษณะหรือสภาพต้องออกไปทำงานนอกสถานที่และไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้ ประกอบกับตามรายงานการเดินรถประจำวัน ที่แสดงว่าโจทก์ทั้งสี่สิบสองมิได้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง บางวันโจทก์บางคนทำงานขับรถยนต์เกิน 8 ชั่วโมง โจทก์บางคนทำงานไม่ถึง 8 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการในแต่ละวัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่สิบสองได้รับค่าจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้คือเป็นเงิน 12 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้จากการขับรถยนต์รับส่งผู้โดยสารทั้งเดือน ดังนั้นโจทก์ทั้งสี่สิบสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (7) (9) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2541) จำเลยต้องจ่ายค่าขาดรายได้จากการพักงานแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเวลา 23 วัน จำเลยหักเงินค่าอุบัติเหตุจากการขับรถยนต์ โดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าเกิดจากความผิดของลูกจ้าง จำเลยจึงต้องคืนเงินส่วนนี้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 12 ที่ 16 ถึงที่ 18 ที่ 20 ที่ 26 และที่ 47 ส่วนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์และค่าเสื่อมสภาพนั้นจำเลยกำหนดขึ้นเองตามอำเภอใจจึงไม่กำหนดให้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่สิบสองว่า โจทก์ทั้งสี่สิบสองมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานหรือค่าล่วงเวลาจากการทำงานล่วงเวลาหรือไม่ นั้น เห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังและยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันและวินิจฉัยมาแล้วว่า งานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำเป็นงานขนส่งทางบกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และจำเลยไม่ได้ตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสอง แม้โจทก์ทั้งสี่สิบสองจะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาก็ตาม แต่ก็มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (9) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานหากโจทก์ทั้งสี่สิบสองได้ทำงานล่วงเวลา หาใช่ว่าเมื่อลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแล้วจะถูกตัดสิทธิมิให้ได้รับค่าจ้างธรรมดาไปด้วยไม่ โจทก์ทั้งสี่สิบสองจึงมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่สิบสองฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนเพียงพอที่ศาลฎีกาจะพิพากษาถึงการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาให้โจทก์แต่ละคนได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนว่าได้ทำงานล่วงเวลาหรือไม่ ทำงานล่วงเวลาจำนวนกี่ชั่วโมง ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยชั่วโมงละเท่าใด กรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลง ก็ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีส่วนนี้ใหม่ตามรูปคดี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาของโจทก์ทั้งสี่สิบสอง โดยให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนว่าทำงานล่วงเวลาหรือไม่ คนละจำนวนกี่ชั่วโมง แต่ละคนได้รับค่าจ้างเฉลี่ยชั่วโมงละเท่าใด กรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลง ก็ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีในส่วนนี้ใหม่ตามรูปคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share