แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งให้การในชั้นสอบสวนเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และพบเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง มิได้รับฟังมาจากผู้อื่น และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลด้วยตนเอง ทั้งคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเหตุผลเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ด้วยความสมัครใจ จึงเป็นปัญหาดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน หาใช่กรณีเป็นปัญหาในเรื่องพยานบอกเล่าไม่ แม้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับว่า ได้ร่วมกับ พ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย จึงไม่ได้เป็นการปัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 แต่เพียงลำพังเท่านั้น แต่เป็นการให้การถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ได้ประสบมายิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลยที่ 2 จึงรับฟังบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ อีกทั้งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสาระสำคัญสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ในฐานะพยาน ยิ่งทำให้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีน้ำหนักให้รับฟังมากขึ้น และจำเลยที่ 2 ยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยทำกริยาท่าทางที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ไปดูบ้านของผู้ตายก่อนเกิดเหตุ ให้พนักงานสอบสวนถ่ายรูป และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปโดยไม่สมัครใจแต่อย่างใด จึงรับฟังการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้เช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 371, 32, 33, 83, 84, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลางทั้งหมด นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3217/2550 ของศาลจังหวัดเพชรบุรี
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นางอำนวย ภริยาของนายสนิทหรือดุ่ย ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาเป็นผู้ใช้และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษประหารชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืน ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร คงจำคุก 4 เดือน เมื่อลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษกระทงหลังมารวมเข้ากับโทษกระทงแรกได้อีก คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3217/2550 ของศาลจังหวัดเพชรบุรี ริบอาวุธปืน ซองกระสุนปืน ลูกกระสุนปืน ขนาด 9 มิลลิเมตร ซองหนังพกอาวุธปืน ปลอกกระสุนปืน รองลูกกระสุนปืน ลูกกระสุนปืนของกลาง ส่วนรถจักรยานยนต์ รถยนต์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง ของกลาง ให้คืนแก่เจ้าของ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4
โจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดต่อชีวิต จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 84 วรรคสอง ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายไพรินหรือหรั่ง ซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว และจำเลยที่ 1 กับคนร้ายอีกหนึ่งคนร่วมกันใช้อาวุธปืนพก ขนาด 9 มิลลิเมตร ของกลาง ยิงนายสนิทหรือดุ่ย กำนันตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้ตายหลายนัด จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกาอีกต่อไป คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ส่วนความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้พิพากษาแก้ถือว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวด้วยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อร้อยตำรวจเอกนภนต์ เจ้าพนักงานตำรวจประจำกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 พยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้รับแจ้งเหตุคดีนี้ ก็ดำเนินการสืบสวนจนทราบว่ากลุ่มคนร้ายที่ร่วมกันก่อเหตุคือจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก ซึ่งเป็นปกติวิสัยของเจ้าพนักงานตำรวจที่มีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดจะต้องปฏิบัติเช่นนั้น และพยานปากนี้ยังเบิกความถึงขั้นตอนในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดไปตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปราศจากพิรุธสงสัย นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การว่า เมื่อต้นเดือนเมษายน 2555 จำเลยที่ 2 ใช้โทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 1 ว่า มีงานยิงคนที่จังหวัดสุพรรณบุรี และขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า มาหาจำเลยที่ 1 ที่บ้านโดยบอกว่า รับงานมา 300,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธ ต่อมาประมาณกลางเดือนเมษายน 2555 จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันเดิมมาหาจำเลยที่ 1 และบอกว่าได้รับเงินเพิ่มเป็น 400,000 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ชวนนายไพรินหรือหรั่งให้ไปดูเป้าหมายที่จังหวัดสุพรรณบุรีด้วย แต่นายไพรินไปไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงนั่งรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ไปที่จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างทางจำเลยที่ 4 ขับรถกระบะยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไมตี้เอกซ์ สีนํ้าตาลเทา พาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปดูบ้านของผู้ตาย แล้วพากันกลับ ต่อมาจำเลยที่ 2 นำเงิน 40,000 บาท มามอบให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 แบ่งเงินให้นายไพริน 10,000 บาท วันที่ 28 เมษายน 2555 จำเลยที่ 2 ใช้โทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 1 ว่า จะมารับจำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุเวลา 16 นาฬิกา เมื่อถึงเวลานัดหมาย จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันเดิมมารับจำเลยที่ 1 และนายไพรินแล้วเดินทางไปจังหวัดสุพรรณบุรี จำเลยที่ 4 ใช้โทรศัพท์นัดให้จำเลยที่ 2 ไปพบที่ร้านอาหารครัวกลางนาเมื่อพบกันแล้ว จำเลยที่ 4 พาจำเลยที่ 1 นั่งรถกระบะไปดูรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ ของผู้ตายซึ่งจอดอยู่ในวัดไผ่โรงวัว แล้วพากลับไปหาจำเลยที่ 2 และนายไพริน จากนั้นประมาณ 15 นาที จำเลยที่ 4 ใช้โทรศัพท์นัดหมายจำเลยที่ 2 ว่าจะนำรถจักรยานยนต์มามอบให้บริเวณทางเข้าร้านอาหารครัวกลางนา อีกประมาณ 10 นาที จำเลยที่ 4 ขับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า สีส้มดำ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนมามอบให้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายไพรินนั่งรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ไปดูรถยนต์ของผู้ตายอีก แล้วพากันกลับไปที่บริเวณจอดรถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 1 นัดให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ไปรับบริเวณเลยซุ้มประตูทางออกถนนใหญ่ แล้วจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พานายไพรินไปที่วัดที่เกิดเหตุ โดยจอดรถจักรยานยนต์รอห่างจากรถยนต์ของผู้ตายประมาณ 20 เมตร ต่อมาประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้ตายเดินออกจากงาน จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปจอดรอบริเวณใกล้ประตูทางออก นายไพรินเดินปะปนไปกับคนที่มาร่วมงาน ขณะผู้ตายขับรถยนต์ออกไปบริเวณประตูที่ 2 นายไพรินใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย แล้ววิ่งมาขึ้นรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 ติดเครื่องยนต์รออยู่และขับหลบหนีไป นายไพรินใช้โทรศัพท์เรียกให้จำเลยที่ 2 มารับบริเวณเลยซุ้มประตู ส่วนจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปทิ้งในบ่อนํ้าซึ่งอยู่ในซอย แล้วออกไปขึ้นรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่ถนนใหญ่และกลับบ้านที่จังหวัดเพชรบุรี โดยจำเลยที่ 2 แวะส่งนายไพรินก่อนและขับรถไปส่งจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 มอบอาวุธปืนของกลางให้จำเลยที่ 1 วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยที่ 1 นำอาวุธปืนของกลางไปฝากไว้กับนายบุญยิ่งหรือแมวที่บ้านของนายบุญยิ่ง ส่วนเงินค่าจ้างอีก 170,000 บาท จำเลยที่ 2 โอนเข้าบัญชีเงินฝากของนางสาวณัฐฐิชา ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพระนครคีรี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้นางสาวณัฐฐิชาเบิกถอนเงินมามอบให้จำเลยที่ 1 ในวันเดียวกัน แล้วนำเงินไปแบ่งให้มารดาของนายไพริน 90,000 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจเชิญตัวจำเลยที่ 1 ไปสอบถามพื้นที่การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 โดยในช่วงเช้าของวันเกิดเหตุ มีการใช้งานอยู่ที่อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ครั้นช่วงเย็นมีการใช้งานอยู่ที่บริเวณวัดไผ่โรงวัวที่เกิดเหตุ แต่หลังจากเวลา 21 นาฬิกา พื้นที่ใช้งานกลับไปอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี จำเลยที่ 1 จึงยอมรับสารภาพว่า เป็นคนร้ายที่ร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยรับว่า อาวุธปืนของกลางพร้อมกระสุนปืน 6 นัด เป็นของจำเลยที่ 1 วันเกิดเหตุมอบให้จำเลยที่ 2 เก็บไว้บริเวณประตูรถด้านคนขับ จำเลยที่ 2 เป็นผู้มอบอาวุธปืนของกลางให้นายไพรินนำไปยิงผู้ตายแล้วมอบคืนให้จำเลยที่ 2 และโจทก์กับโจทก์ร่วมมีคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ซึ่งให้การว่า เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2555 จำเลยที่ 3 ติดต่อให้จำเลยที่ 2 หามือปืนไปฆ่าผู้ตายโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ใช้โทรศัพท์สอบถามจำเลยที่ 1 ซึ่งบอกว่า ขอดูก่อน หลังจากนั้นประมาณ 5 ถึง 6 วัน จำเลยที่ 1 ตกลง จำเลยที่ 2 จึงขับรถยนต์พาจำเลยที่ 1 ไปที่จังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อดูเส้นทางและบ้านของเป้าหมาย โดยจำเลยที่ 2 ใช้โทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 3 ซึ่งประสานงานให้จำเลยที่ 4 พาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปดูบ้านของผู้ตาย และตกลงรับงานฆ่าผู้ตายในราคา 400,000 บาท โดยตกลงให้จำเลยที่ 1 จัดหาอาวุธปืน ส่วนฝ่ายจำเลยที่ 4 จัดหายานพาหนะ แล้วจำเลยที่ 4 มอบเงินให้จำเลยที่ 2 จำนวน 40,000 บาท จำเลยที่ 2 เก็บไว้ 10,000 บาท และมอบให้จำเลยที่ 1 จำนวน 30,000 บาท จากนั้นประมาณ 3 ถึง 4 วัน จำเลยที่ 4 โอนเงินมาให้จำเลยที่ 2 อีก 80,000 บาท จำเลยที่ 2 เก็บไว้ 20,000 บาท อีก 60,000 บาท โอนให้จำเลยที่ 1 เข้าบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเพชรบุรี วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 4 ใช้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ไปยิงผู้ตาย จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายไพรินจึงไปพบจำเลยที่ 4 ที่สถานีบริการแก๊ส ทางไปวัดไผ่โรงวัวที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 4 เป็นผู้พาจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับนายไพรินไปดูรถยนต์ของผู้ตายที่วัดไผ่โรงวัว และเป็นผู้นำรถจักรยานยนต์มาใช้ก่อเหตุ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 รอจำเลยที่ 1 และนายไพรินอยู่ใกล้สถานีบริการแก๊ส หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ใช้โทรศัพท์แจ้งว่า งานเสร็จแล้วให้ไปรับเลยจากวัดที่เกิดเหตุไปประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วพากันเดินทางกลับไปทางกรุงเทพมหานคร วันที่ 30 เมษายน 2555 จำเลยที่ 3 นัดหมายให้จำเลยที่ 2 ไปรับเงินค่าจ้างส่วนที่เหลืออีก 280,000 บาท จากจำเลยที่ 3 ที่ร้านอาหารคนกันเองในวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 โดยจำเลยที่ 3 หักเงินไว้ 70,000 บาท เพื่อใช้หนี้ที่จำเลยที่ 2 ยืมจากจำเลยที่ 3 จำนวน 40,000 บาท และจำเลยที่ 4 หักไว้ 20,000 บาท ที่เหลืออีก 170,000 บาท จำเลยที่ 2 โอนให้จำเลยที่ 1 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาด่านมะขามเตี้ย ไปยังบัญชีเงินฝากของนางสาวณัฐฐิชาที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพระนครคีรี ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ทันทีในวันที่ถูกจับกุม เชื่อว่าคงไม่ทันคิดไตร่ตรองหาข้อแก้ตัวในการต่อสู้คดีได้ทัน และจำเลยที่ 1 คงไม่ทันคิดช่วยเหลือหรือปรักปรำจำเลยที่ 2 นอกจากนี้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมีรายละเอียดต่าง ๆ ของพฤติการณ์ในคดีมากมาย และมีข้อเท็จจริงบางประการซึ่งอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ละคนโดยเฉพาะ เป็นการยากที่พนักงานสอบสวนจะปั้นแต่งข้อเท็จจริงขึ้นเองหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้การไว้ และคำรับดังกล่าวยังเป็นคำรับที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เอง ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ต่อหน้านายสิรภพหรือไพศาล ทนายความที่ร่วมฟังการสอบปากคำด้วย โดยโจทก์และโจทก์ร่วมมีนายสิรภพมาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ในการสอบปากคำของพนักงานสอบสวนต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น พยานอยู่ด้วย และไม่เห็นมีการบังคับขู่เข็ญให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นพยานบอกเล่า และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ยังเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งให้การในชั้นสอบสวนเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และพบเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง มิได้รับฟังมาจากผู้อื่น และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลด้วยตนเอง ทั้งคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเหตุผลเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ด้วยความสมัครใจดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น จึงเป็นปัญหาดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานหาใช่กรณีเป็นปัญหาในเรื่องพยานบอกเล่าไม่ และแม้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา แต่จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับว่า ได้ร่วมกับนายไพริน ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย จึงไม่ได้เป็นการปัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 แต่เพียงลำพังเท่านั้น แต่เป็นการให้การถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ได้ประสบมายิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลยที่ 2 จึงรับฟังบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ อีกทั้งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสาระสำคัญสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ในฐานะพยาน ยิ่งทำให้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีน้ำหนักให้รับฟังมากขึ้น และจำเลยที่ 2 ยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยทำกริยาท่าทาง ที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ไปดูบ้านของผู้ตายก่อนเกิดเหตุ ให้พนักงานสอบสวนถ่ายรูป ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปโดยไม่สมัครใจแต่อย่างใด จึงรับฟังการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้เช่นกัน
นอกจากนั้นได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจเอกจิตตพล พนักงานบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) พยานโจทก์และโจทก์ร่วมอีกปากหนึ่งว่า พยานเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ตามที่พนักงานสอบสวนมีหนังสือขอให้ตรวจสอบ พบว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้จดทะเบียนผู้ใช้ มีการใช้โทรศัพท์ติดต่อไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง ที่จำเลยที่ 2 นำสืบกล่าวอ้างทำนองว่า ไม่ได้คบหากับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ทราบหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นพิรุธและรับฟังไม่ได้ ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีการติดต่อกับจำเลยที่ 1 มาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุจนถึงวันเกิดเหตุและภายหลังเกิดเหตุ อีกทั้งโจทก์และโจทก์ร่วมมีนางสาววิภารัตน์ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2555 จำเลยที่ 2 ขอร้องให้พยานนำเงิน 170,000 บาท ไปโอนเข้าบัญชีของนางสาวณัฐฐิชา พยานจึงไปที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาด่านมะขามเตี้ย และโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีของนางสาวณัฐฐิชาที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเพชรบุรี (ที่ถูก สาขาพระนครคีรี) สอดคล้องกับที่นางสาวณัฐฐิชา พยานโจทก์และโจทก์ร่วมอีกปากหนึ่งเบิกความว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 เวลาตอนเย็น จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอหมายเลขบัญชีของพยานที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพระนครคีรี จากพยาน โดยอ้างว่าจะมีเพื่อนของจำเลยที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีของพยาน วันถัดมามีการโอนเงิน 170,000 บาท เข้าบัญชีของพยาน และพยานไปถอนเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ไปในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยเฉพาะ สอดรับกับที่ได้ความจากบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นับเป็นพฤติการณ์ที่สนับสนุนให้พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ยืนยันว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ที่ก่อให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายมีน้ำหนักให้รับฟังมากขึ้น และแม้โจทก์กับโจทก์ร่วมจะไม่มีพยานคนใดมายืนยันว่า เงิน 170,000 บาท ที่มีการโอนเข้าบัญชีของนางสาวณัฐฐิชานั้นจะเป็นเงินค่าอะไร และโอนเพื่ออะไรดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อนำข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานต่าง ๆ ของโจทก์และโจทก์ร่วมตลอดจนพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีมาประมวลเข้าด้วยกันแล้ว เชื่อได้ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินค่าจ้างฆ่าผู้ตายส่วนที่เหลือที่จำเลยที่ 2 โอนให้จำเลยที่ 1 นั่นเอง ประกอบกับพยานโจทก์และโจทก์ร่วมล้วนไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน โดยเฉพาะร้อยตำรวจเอกนภนต์และพันตำรวจโทสุวิทย์ต่างก็เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ จึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้โดยอ้างฐานที่อยู่นั้นเป็นเรื่องที่ง่ายต่อการกล่าวอ้าง และจำเลยที่ 2 ยังกล่าวอ้างเรื่องดังกล่าวขึ้นในภายหลัง ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมานั้นมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษา สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 เป็นปัญหาปลีกย่อย แม้วินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน