คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1863/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

รถจำเลยที่ 2 ออกจากทางโทต้องระวังให้รถจำเลยที่ 1 ในทางเอกผ่านไปก่อน แต่รถในทางเอกก็ต้องชะลอความเร็วลง รถทั้งสองชนกันในทางเอก รถในทางเอกเลยไปชนรถโจทก์เสียหาย รถทั้งสองต้องร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่ศาลให้รถจำเลยที่ 1 รับผิดหนึ่งในสาม

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 21,000บาทกับดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง นายจิมขับรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ หมายเลขทะเบียน น.ม.11979 ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้าง ไปตามถนนมิตรภาพสายระยอง-นครราชสีมา ถึงสี่แยกบ้านหันที่เกิดเหตุเป็นทางสี่แยกมีถนนสายปักธงไชย-เข้าตลาดบ้านหันซึ่งเป็นทางโทมาตัดกัน รถของจำเลยที่ 1 ได้พุ่งเข้าชนรถยนต์โดยสารเล็กสองแถวหมายเลขทะเบียน น.ม.15005 ซึ่งมีนายธนชัยลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับแล่นออกจากทางโทเข้าทางแยกด้านขวาของรถจำเลยที่ 1 ตัดข้ามไปอีกด้านหนึ่งโดยแรงกระเด็นตกถนนพังเสียหายยับเยิน แล้วรถของจำเลยที่ 1 เสียหลักพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์โดยสารประจำทางของโจทก์ที่จอดรอรับผู้โดยสารเข้าทางห่างบริเวณสี่แยกประมาณ 13 เมตรพลอยได้รับความเสียหายไปด้วย” ฯลฯ

“จริงอยู่แม้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุจะได้บัญญัติไว้ว่าเมื่อถึงทางแยกพร้อมกัน รถที่แล่นในทางโทต้องยอมให้รถที่แล่นในทางเอกผ่านไปก่อน และแม้ว่ารถทางฝ่ายจำเลยที่ 2ขับออกจากทางแยกที่เป็นทางโท ไม่ยอมหยุดหรือรอให้รถทางฝ่ายจำเลยที่ 1ผ่านไปก่อนจนเป็นเหตุทำให้ถูกรถของจำเลยที่ 1 ชนดังกล่าว อันถือได้ว่าเป็นความประมาททางฝ่ายรถของจำเลยที่ 2 ก็ตามแต่พระราชบัญญัตินี้ก็ได้บัญญัติให้รถทุกชนิดที่จะผ่านทางแยก ทางร่วมไม่ว่าจะแล่นในทางเอกหรือทางโทต้องชะลอความเร็วของรถให้เหลือน้อยลง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของยวดยานต่าง ๆ และความปลอดภัยของบุคคลอื่น” ฯลฯ

“รถของจำเลยที่ 1 แล่นด้วยความเร็วสูง ไม่ชะลอหรือลดความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด เป็นการกระทำที่ประมาทขาดความระมัดระวัง ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติของกฎหมายจนไม่อาจแก้ไขได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า นับได้ว่านายจิมลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่รถถูกชนครั้งนี้ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ว่าสุดวิสัย จำเลยที่ 1ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิดของลูกจ้างจำเลยที่ 1 แล้ว มีส่วนของการกระทำละเมิดน้อยกว่าทางฝ่ายลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นอย่างมาก เห็นควรร่วมในการรับผิดทำละเมิดต่อโจทก์ เพียง 1 ใน 3 ของค่าเสียหายที่ฟังเป็นยุติแล้วทั้งหมดเป็นเงิน 21,000 บาท

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 21,000 บาทแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้เพียง1 ใน 3 เป็นเงิน 7,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,200บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share