คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1862/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์นำสินค้าประเภทอะไหล่รถจักรยานยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรระหว่างเดือน มกราคมถึง เดือน กรกฎาคม 2529 และได้ สำแดงราคาสินค้าขณะนำเข้าตรง ตาม บัญชีที่ซื้อ สินค้ามาดังนี้น่าเชื่อว่าราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ เพื่อเสียภาษีอากรตามใบขนส่งสินค้านั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ส่วนราคาที่บริษัทผู้ผลิตเสนอขายสินค้าประเภทเดียว กันทั่วโลก จะนำมาเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดมิได้ เพราะภาวะการตลาดของประเทศต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า “โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้ารถจักรยานยนต์และอะไหล่รถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องหมายการค้า “ฮอนด้า” ซึ่งเป็นสินค้าของบริษัท ฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น
ระหว่างเดือนมกราคม 2529 ถึงเดือนกรกฎาคม 2529 โจทก์ได้นำสินค้าประเภทอะไหล่รถจักรยานยนต์เข้ามาในราชอาณาจักร โดยสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่นรวม 19 รายการ โจทก์ได้ชำระอากรขาเข้าเป็นเงิน 5,515,052.92 บาทภาษีการค้าเป็นเงิน 2,163,535.22 บาท และภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน 216,353.51 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,894,941.65 บาทต่อมาเจ้าพนักงานประเมินอากรซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยได้ทำการประเมินอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และเงินเพิ่มภาษีดังกล่าวจากโจทก์โดยทำการประเมินภาษีอากรเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น4,122,559.69 บาท โจทก์ได้ชำระให้กับจำเลยพร้อมทั้งโต้แย้งการประเมินโดยได้ยื่นอุทธรณ์การประเมิน ต่อมาเมื่อวันที่ 15กรกฎาคม 2530 จำเลยได้มีหนังสือแจ้งผลการอุทธรณ์การประเมินโดยวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินราคาไว้ชอบแล้วขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรจำนวน 4,122,559.69 บาทให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า การประเมินราคาสินค้าของเจ้าพนักงานของจำเลยทั้ง 19 ฉบับ ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว กล่าวคือโจทก์ได้สำแดงต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เป็นเหตุให้ค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลที่โจทก์ได้สำแดงไว้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าพนักงานของจำเลยจึงได้ทำการประเมินราคาสินค้าของโจทก์เสียใหม่ โดยเทียบเคียงกับสินค้าจากบัญชีราคาสินค้าของบริษัทฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่น และเป็นราคาการอนุมัติร่วมระหว่างกองวิเคราะห์ราคาและกองพิธีการและประเมินอากรและเอกสารอื่น ๆ ซึ่งเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดและได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มเติม อันเป็นการประเมินโดยชอบด้วยกฎหมายส่วนราคาสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้ง19 ฉบับ ดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์ที่โจทก์ได้สำแดงราคาไว้นั้นเป็นราคาที่โจทก์ตกลงกับบริษัทฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นพิเศษ มิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จะนำมาเป็นเกณฑ์ในการประเมินอากรขาเข้ามิได้ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ทำการประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้น โจทก์ยินยอมนำเงินภาษีอากรเพิ่มไปชำระแก่จำเลยจนครบถ้วนแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ราคาซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมศุลกากร พิจารณาและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ประเมินได้ประเมินราคาโดยชอบแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการประเมิน หรือให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2530 เป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลเกิน 30 วัน โดยมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งประมวลรัษฎากรมาตรา 30(2) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยคืนค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่เรียกเก็บเกินมาจำนวน1,282,146.93 บาท และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 2,840,412.76 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2529 โจทก์ได้นำสินค้าประเภทอะไหล่รถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสั่งซื้อจากบริษัทฮอนด้ามอเตอร์จำกัด ประเทศญี่ปุ่น จำนวน18 รายการ และบริษัทบุนซิว จำกัด ประเทศมาเลเซีย อีกจำนวน 1 รายการปรากฏตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการค้า เอกสารหมาย จ.3-จ.21เจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่พอใจราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ โจทก์จึงให้ธนาคารโตเกียว จำกัด ค้ำประกันจำนวนค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระเพิ่มเติมพร้อมกับได้ชำระค่าภาษีอากรตามที่สำแดงไว้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจปล่อยสินค้าทั้งหมดให้โจทก์รับไปต่อมาโจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมินจากเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยให้โจทก์ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มเติมสำหรับสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาดังกล่าว โจทก์จึงชำระค่าภาษีอากรเพิ่มเติมอีกรวมเป็นเงิน 4,122,559.69 บาท พร้อมกับได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไว้ตามเอกสารหมายจ.98-จ.104 ซึ่งต่อมาจำเลยได้ยกอุทธรณ์ของโจทก์โดยยืนตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามเอกสารหมาย จ.105 สินค้าที่โจทก์นำเข้ามาในคดีนี้นั้น เจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้เอกสารบัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์ตามเอกสารหมาย ล.39 ที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรของจำเลยประจำนครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นจัดส่งมาให้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาเพื่อประเมินค่าภาษีอากร โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2517-2528 เจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้ไพรซ์ลิสท์ที่โจทก์จัดส่งมาให้ซึ่งตรงกับราคาในใบอินวอยซ์ที่โจทก์ซื้อสินค้ามาเป็นเกณฑ์ในการประเมินค่าภาษีอากร และหลังจากปี พ.ศ. 2529 ที่โจทก์นำสินค้าพิพาทเข้ามาแล้ว เจ้าหน้าที่ของจำเลยก็กลับไปใช้หลักเกณฑ์ที่เคยถือมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517-2528 ในการกำหนดราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาเพื่อประเมินค่าภาษีอากรอีก
ปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกคืนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลหรือไม่นั้นยุติตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ในชั้นอุทธรณ์นี้คงมีปัญหาเพียงว่า ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้เพื่อเสียภาษีอากรนั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าว โจทก์นำสืบว่าราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้านั้นตรงกับราคาสินค้าที่ระบุในใบอินวอยซ์และบัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์เอกสารหมาย จ.106ถึง จ.109 และโจทก์ได้ชำระราคาดังกล่าวจริง ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า จึงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด สำหรับบัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์เอกสารหมาย จ.106 ถึง จ.109 นั้น ได้ความว่าจำเลยยอมรับและถือปฏิบัติตามตลอดมา ยกเว้นในช่วงปี พ.ศ. 2529 ซึ่งพิพาทกันในคดีนี้เท่านั้นที่จำเลยไม่ยอมยึดถือบัญชีราคาสินค้าดังกล่าวเป็นหลักปฏิบัติ โดยจำเลยให้เหตุผลว่าช่วงระยะเวลาที่พิพาทกันในคดีนี้นั้นเงินสกุลเยนของประเทศญี่ปุ่นแข็งขึ้น สินค้าที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นน่าจะมีราคาสูงขึ้นด้วย แต่บัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์เอกสารหมาย จ.106 ถึง จ.109 ก็ระบุราคาสินค้าเป็นเยนมิได้ระบุราคาเป็นบาท ดังนั้นแม้เงินเยนจะแข็งขึ้นเพียงใดก็ไม่น่าจะมีผลกระทบกระเทือนถึงบัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์ดังกล่าวเลย การที่จำเลยใช้บัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์เอกสารหมายล.39 เป็นหลักในการพิจารณาราคาสินค้าของโจทก์ในช่วงเวลาที่พิพาทกันนี้นั้นก็ได้ความว่าราคาสินค้าตามบัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์เอกสารหมาย ล.39 นั้นเหมือนกับราคาสินค้าตามบัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์เอกสารหมาย จ.106 ถึง จ.109 เป็นส่วนใหญ่ จะแตกต่างกันเพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบกันสำหรับบัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์ตามเอกสารหมาย ล.39 ที่จำเลยใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาสินค้านั้น นายวานิช จันทร์จรุงจิตพยานโจทก์เบิกความว่าบัญชีนี้เป็นบัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์ที่ทางบริษัทฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่นเสนอขายแก่ลูกค้าทั่วโลก ซึ่งภาวะการตลาดของประเทศต่าง ๆ นั้นไม่เหมือนกันถือเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดสำหรับสินค้าที่โจทก์นำเข้าไม่ได้สำหรับโจทก์นั้นทางบริษัทฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่นขายสินค้าให้โจทก์ในราคาตามบัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์เอกสารหมาย จ.109 ซึ่งย่อส่วนจากเอกสารหมาย จ.106 ถึง จ.108และบัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์เอกสารหมาย จ.109 นี้ บริษัทดังกล่าวจัดส่งมาให้โจทก์โดยตรงเพื่อให้โจทก์สั่งซื้อสินค้าได้ตามราคาที่ระบุในบัญชี ใบอินวอยซ์ที่ทางบริษัทออกให้โจทก์ก็ตรงกับราคาสินค้าตามเอกสารหมาย จ.109 ศาลฎีกาได้ตรวจพิเคราะห์บัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์เอกสารหมาย จ.109 แล้ว เห็นได้ว่าบัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์เอกสารหมาย จ.109 นี้บริษัทฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้จัดทำขึ้น เมื่อได้ความว่าโจทก์ซื้อสินค้าที่พิพาทกันในคดีนี้ตามราคาที่ระบุไว้ในเอกสารนี้ จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่า ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้านั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด นอกจากนี้หนังสือของบริษัทฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่นเอกสารหมาย จ.135 พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.136 ก็รับรองว่าบริษัทดังกล่าวได้ขายสินค้าพิพาทให้โจทก์ในราคาตามที่โจทก์ระบุไว้ในใบขนสินค้าและตามที่ระบุไว้ในใบอินวอยซ์จริงและเป็นราคาในท้องตลาด เมื่อเป็นดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าราคาที่โจทก์สำแดงไว้เพื่อเสียภาษีอากรตามใบขนสินค้าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด…”
พิพากษายืน.

Share