คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1862/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธนาคารเจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยทบต้นจากลูกหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคสองนั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ว่าเป็นการคิดกันตามประเพณีการค้าขายในเมื่อมีบัญชีเดินสะพัดต่อกันเท่านั้น และกิจการในสัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ เมื่อลูกหนี้ตาย สัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมต้องระงับสิ้นสุดลงหลังจากลูกหนี้ตายแล้ว เจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปหาได้ไม่ ถึงแม้ต่อมาผู้จัดการมรดกของลูกหนี้ผู้ตายได้ทำหนังสือรับต่อธนาคารเจ้าหนี้ว่า ลูกหนี้เป็นหนี้ธนาคารจริง ยอมให้คิดดอกเบี้ยกันตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเดิมของลูกหนี้ก็ตาม ก็หามีผลทำให้ธนาคารเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ไม่ เพราะขัดกับมาตรา 655 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายวิชัย โต๊ะสวัสดิ์สุข สามีจำเลยได้ทำสัญญาขอเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารโจทก์เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 2,000,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยแก่ธนาคารโจทก์สำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ถ้าไม่ส่งดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา ให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชี และให้ถือเป็นยอดเงินที่เบิกเกินบัญชีที่จะต้องเสียดอกเบี้ยต่อไป อันเป็นประเพณีของธนาคาร นายวิชัยได้จำนองที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 2,000,000 บาทไว้เป็นประกัน ต่อมานายวิชัยถึงแก่ความตายนายวิชัยเป็นหนี้โจทก์อยู่ 2,217,384 บาท 36 สตางค์ จำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้ทำหนังสือยอมรับหนี้จำนวนดังกล่าวและยินยอมใช้ให้ภายใน 6 เดือน โดยยินยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ตามอัตราและเงื่อนไขเช่นเดียวกับในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับนายวิชัย ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ จึงขอศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระ 2,556,255 บาท 46 สตางค์ ถ้าจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็ให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินสุทธิมาชำระหนี้โจทก์ ถ้าได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเป็นหนี้ ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยมาขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คดีฟังได้ว่านายวิชัยได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์จริง สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับนายวิชัยยังคงดำเนินอยู่จนกระทั่งนายวิชัยตาย สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจึงเป็นอันระงับ และโจทก์ได้หักทอนบัญชีของนายวิชัยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2514 แล้ว ปรากฏว่านายวิชัยเป็นหนี้โจทก์อยู่ 2,019,786 บาท 30 สตางค์ การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในวันปลายเดือนและนำเอาไปทบต้นนั้น ไม่ถูกต้องกับสัญญาที่นายวิชัยทำไว้กับโจทก์และขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 เพราะสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับนายวิชัยได้สิ้นสุดลงแล้ว การที่จำเลยได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ไม่ได้ก่อให้เกิดหนี้ขึ้นมาใหม่ ไม่มีผลให้โจทก์ได้สิทธิขึ้นมาใหม่ โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามธรรมดาในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีเท่านั้น พิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิชัย โต๊ะสวัสดิ์สุข ชำระหนี้ให้โจทก์ 2,019,786 บาท 30 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2514 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้หักเงินที่ชำระแล้ว 200,000 บาทออกจากส่วนที่จำเลยต้องชำระ ถ้าจำเลยไม่ชำระให้นำที่ดินที่จำนองไว้ออกขายทอดตลาด ถ้าขายได้สุทธิไม่พอชำระหนี้ให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ต่อไปจนครบ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่เจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยทบต้นจากลูกหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคสองนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ว่าเป็นการคิดกันตามประเพณีค้าขายในเมื่อมีบัญชีเดินสะพัดต่อกันเท่านั้น กิจการในสัญญาบัญชีเดินสะพัดในคดีนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวของนายวิชัย เมื่อนายวิชัยตายสัญญาบัญชีเดินสะพัดก็ย่อมจะต้องสิ้นสุดลงด้วย เพราะกิจการตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไม่อาจจะดำเนินต่อไปอีกได้แล้ว นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับกองมรดกของนายวิชัยจึงยังคงมีผลอยู่ก็แต่เฉพาะตามสัญญากู้เงินกันตามธรรมดาเท่านั้น ซึ่งโจทก์ชอบที่จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิชัยได้พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามธรรมดาส่วนการที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิชัยได้ทำหนังสือรับต่อโจทก์ว่า นายวิชัยเป็นหนี้โจทก์อยู่จริง ก็ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด แม้ว่าในสัญญาจะมีข้อความว่าจำเลยยอมให้คิดดอกเบี้ยกันตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเดิมของนายวิชัยก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยได้ เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคสอง เนื่องจากไม่มีบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยหรือนายวิชัยอยู่อีกต่อไปแล้ว

พิพากษายืน

Share