คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1861/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้รับโอนอาคารพิพาทซึ่งก่อสร้างผิดแบบแปลนโดยมิชอบด้วยกฎหมายจากจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2521ซึ่งเป็นขณะที่อยู่ในระหว่างการใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 บังคับ โจทก์ไม่อาจฟ้องเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารเช่นจำเลยที่ 1 ได้ แม้ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เป็นเวลาระหว่างที่ พระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ใช้บังคับ ซึ่งตาม พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ มาตรา 40 และมาตรา 42 ให้อำนาจโจทก์ขอให้ศาลสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองรื้อถอนอาคารนั้นได้ ก็จะนำมาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้เพราะเป็นกฎหมายย้อนหลังที่มีผลเสียหายแก่จำเลยที่ 1ซึ่งมิได้เป็นผู้ปลูกสร้างและต่อเติมอาคารพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้รื้อถอนส่วนของอาคารที่ต่อเติมผิดแบบแปลนนั้นได้ แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาขึ้นมา แต่เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารซึ่งซื้อมาจากจำเลยที่ 2 อาคารดังกล่าวจำเลยที่ 2 ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลง ฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนส่วนของอาคารตึกแถวที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตรสูง 16.50 เมตร ออกจากตึกแถวเลขที่ 281/1 ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติขอให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การก่อสร้างตึกแถวเลขที่ 281/1 จำเลยที่2 กับพวกเป็นผู้ดำเนินการ โดยจำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องด้วยขณะที่จำเลยที่ 2 ทำการก่อสร้างหากการก่อสร้างผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต โจทก์มีอำนาจจัดการได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 โจทก์จะสั่งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติดังกล่าวประกาศใช้ภายหลังที่จำเลยที่ 2ก่อสร้างอาคารเสร็จแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ก่อสร้างอาคารผิดพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ซึ่งมีโทษเพียงปรับ โจทก์ฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ไม่ชอบ จำเลยที่ 2 ได้ขายห้องแถวพิพาทให้จำเลยที่ 1 ไปแล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนส่วนของอาคารตึกแถวที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมกว้าง 2.00 เมตร ยาว 4.00 เมตรสูง 16.50 เมตร ออกจากตึกแถวเลขที่ 281/1 ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร หากจำเลยทั้งสองไม่รื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนได้เองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 40, 41, 42 โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเสียค่าใช้จ่ายแทนโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 600 บาทแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างตึกแถว 5 ชั้น จำนวน 15 คูหา ตึกแถว4 ชั้น 35 คูหา บนที่ดินของจำเลยที่ 2 เองเพื่อขาย ตามแผนผังแบบก่อสร้างรายการและรายคำนวณที่โจทก์ได้อนุญาต แต่จำเลยที่2 ทำการก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหลายห้องโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ก่อน โดยเฉพาะตึกแถวเลขที่ 281/1มีการก่อสร้างเชื่อมปกคลุมที่ว่างทางเดินหลังอาคารขนาดประมาณ2X4 เมตร สูงประมาณ 16.50 เมตร จำเลยที่ 1 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวเลขที่ 281/1 จากจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16มิถุนายน 2521 ครั้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2521 จำเลยที่ 2 ถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางรักเปรียบเทียบปรับในอัตราโทษอย่างสูง 5,000 บาท ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 โจทก์ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตภายใน 30 วัน
พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่1 มิได้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารพิพาทนั้น จำเลยที่ 1เบิกความว่าจำเลยที่ 1 เพียงได้ตรวจดูแบบแปลนเท่านั้น ซึ่งปรากฏตามแบบแปลนว่าด้านหลังตึกแถวที่จะก่อสร้างแต่ละห้องต้องเว้นที่ว่างไว้สำหรับเป็นทางเดินโดยตลอด แต่ในการก่อสร้างได้มีการต่อเติมคลุมที่ว่างทางเดินหลังอาคารทั้ง 50ห้องตลอดทั้งแถว ส่อแสดงว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำไปเองไม่ปรากฏพยานหลักฐานยันจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ได้เป็นผู้รู้เห็นในการก่อสร้างที่ผิดไปจากแบบแปลนดังกล่าว อีกทั้งฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยที่ 2 ทำการก่อสร้างผิดจากแบบแปลนดังกล่าวด้วย จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารพิพาทด้วย
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารพิพาทจะถูกบังคับให้รื้อถอนอาคารพิพาทได้หรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้รับโอนอาคารพิพาทจากจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2521 ซึ่งเป็นขณะที่อยู่ในระหว่างการใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 บังคับ ซึ่งไม่อาจฟ้องเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารเช่นจำเลยที่ 1 ได้ แม้ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เป็นเวลาระหว่างที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ ซึ่งตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ มาตรา 40 และมาตรา 42 ให้อำนาจโจทก์ขอให้ศาลสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองรื้อถอนอาคารนั้นได้ ก็จะนำมาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายย้อนหลังที่มีผลเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้เป็นผู้ปลูกสร้างและต่อเติมอาคารพิพาทโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รื้อถอนส่วนของอาคารที่ต่อเติมนั้นได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น อนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาขึ้นมา แต่เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย’
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share