แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 กำหนดให้ทึ่งอกริมตลิ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ตั้งอยู่ริมตลิ่งเมื่อที่งอกอยู่ติดกับที่ดินมีโฉนดย่อมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงดังกล่าวและเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. เจ้าของที่ดินโดยหลักส่วนควบด้วยผลของกฎหมาย ไม่จำต้องรังวัดขึ้นทะเบียนว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเดิมเสียก่อนแล้วจึงจะเป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์ การที่ ส. ขายที่งอกให้โจทก์ ถือว่าได้แบ่งที่ดินตามโฉนดนั้นขายแก่โจทก์ไม่ใช่เป็นการขายที่ดินมือเปล่า โจทก์กับ ส.เพียงแต่ทำสัญญาซื้อขายกันเองจะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรกโจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่งอก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยออกไปจากที่งอก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ 300 ตารางวา ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 ตำบลท่าไม้รวกอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 1550 โจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวจากนายสมชัย วัดน้อยเมื่อเดือนมีนาคม 2534 หลังจากซื้อที่ดินมาแล้วโจทก์ได้เข้าครอบครองบำรุงรักษาสภาพของที่ดินและต้นกล้วยซึ่งปลูกอยู่ก่อนและนำเสาไม้จำนวน 200 ต้น ไปกองไว้บนที่ดินเพื่อจะทำการล้อมรั้ว ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม 2534 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันบุกรุกโดยใช้รถแทรกเตอร์เข้ามาไถเสาไม้ดังกล่าวของโจทก์ออกไปจากที่ดินและจำเลยทั้งสามได้ปลูกต้นชมพู่ในที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ หากโจทก์นำที่ดินให้ผู้อื่นเช่าจะได้ค่าเช่าอย่างต่ำปีละ 60,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์จำนวน 60,000 บาทต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนางพ่วง ฉิมพาลีนายสมชัยไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ ดังนั้นโจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินเฉพาะส่วนในที่ดินโฉนดเลขที่ 1550 ตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายางจังหวัดเพชรบุรี ร่วมกับบุคคลอื่นอีก 4 คน คือนางพ่วง ฉิมพาลี(วัดน้อย) นางโต๊ะ วัดน้อย นายสมชัย วัดน้อย และนายประนม วัดน้อยทางด้านทิศเหนือของที่ดินดังกล่าวจดแม่น้ำเพชรบุรี ต่อมาได้เกิดที่งอกทางด้านทิศเหนือ จึงกลายเป็นส่วนควบของที่ดินโฉนดเลขที่ 1550 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 3ได้เช่าที่ดินเฉพาะส่วนของนายสมชัยมีกำหนด 12 ปี ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาเมื่อวันที่ 7สิงหาคม 2534 จำเลยที่ 3 ได้เช่าที่ดินเฉพาะส่วนของนางพ่วงมีกำหนด 12 ปี ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1550ได้ตกลงให้จำเลยที่ 3 ทำสวนเกษตรทางด้านทิศเหนือของที่ดินซึ่งรวมทั้งที่งอกดังกล่าวตลอดไปจนจดแม่น้ำเพชรบุรี จำเลยที่ 2และที่ 3 ได้เข้าทำการไถแปรที่ดินปลูกต้นกล้วยและต้นชมพู่โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท หนังสือสัญญาซื้อขายที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอมและโจทก์เป็นคู่กรณีกับนายสมชัยตามสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นบุคคลสิทธิ ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตามแผนที่วิวาทเป็นของโจทก์ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไปให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ12,000 บาท (เดือนละ 1,000 บาท) นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า แม้ที่งอกริมตลิ่งจะเป็นส่วนควบของโฉนดที่ดินเลขที่ 1550 ตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ก็ตาม แต่ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่งอกยังมิได้มีการรังวัดขึ้นทะเบียนเป็นหลักฐานให้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดดังกล่าว ที่ดินซึ่งเป็นที่งอกจึงยังคงเป็นที่ดินมือเปล่าอยู่ เจ้าของที่ดินสามารถทำการซื้อขายโดยการส่งมอบการครอบครอง โดยไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อโจทก์รับโอนที่ดินจากผู้ขายและเข้าครอบครองที่ดินแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามได้ พิเคราะห์แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 บัญญัติว่า “ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น” เห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดให้ที่งอกริมตลิ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ตั้งอยู่ริมตลิ่งเมื่อที่งอกอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 1550 ที่งอกย่อมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงดังกล่าว และเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสมชัยวัดน้อย โดยหลักส่วนควบด้วยผลของกฎหมาย ไม่จำต้องรังวัดขึ้นทะเบียนเป็นหลักฐานว่าเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเดิมเสียก่อนแล้วที่งอกจึงจะเป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์ การที่นายสมชัยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ ถือว่าได้แบ่งที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1550ขายแก่โจทก์ หาใช่เป็นการขายที่ดินมือเปล่าแต่อย่างใดไม่การซื้อขายที่ดินมีกรรมสิทธิ์จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์กับนายสมชัยเพียงแต่ทำสัญญาซื้อขายกันเองตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ สัญญาซื้อขายระหว่างนายสมชัยกับโจทก์จึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรกโจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยทั้งสามให้ออกไปจากที่ดินพิพาทได้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน