คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1856/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำแจ้งความต่อตำรวจว่า แจ้งให้ทราบไว้เป็นหลักฐานกันเช็คขาดอายุความฟ้องร้องคดีอาญา ไม่มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ไม่เป็นร้องทุกข์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(7)

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาว่าการแจ้งความของนายจิโรจน์มกรมณี ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วมต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 28มกราคม 2515 เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “คำร้องทุกข์”ไว้ว่า “หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่า มีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ” แต่ตามสำนวนรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ์ ลงวันที่28 มกราคม 2515 ไม่มีข้อความตอนใดที่มีความหมายว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายมีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย กลับมีข้อความเพียงว่า “มาแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบไว้เป็นหลักฐานกันเช็คขาดอายุความฟ้องร้องคดีอาญา” การที่โจทก์ร่วมแจ้งความไว้เพียงเท่านี้ มิได้มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย ถือมิได้ว่าเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย ส่วนที่โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2515 ก็เป็นการร้องทุกข์เมื่อคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 แล้ว เพราะโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2515แต่มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน”

พิพากษายืน

Share