คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1855/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีอำนาจฟ้องให้จำเลยเปิดทางพิพาทที่โจทก์อ้างว่าตกเป็นทางจำเป็นได้โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ครอบครองทางพิพาทและการที่โจทก์ยื่นฟ้องแล้วขอถอนฟ้องและนำมูลคดีนั้นมาฟ้องเป็นคดีนี้ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมาย มิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อน ศาลชั้นต้นจึงยังมิได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี การที่โจทก์นำมูลคดีเดียวกันมาฟ้องเป็นคดีนี้ จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ดังนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำอันต้องห้ามตามป.วิ.พ. มาตรา 148 ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่โดยรอบ โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะมา 40 กว่าปี โดยไม่ได้ใช้ทางอื่น ทางพิพาทอยู่ริม สุดของเขตที่ดินของจำเลยทำให้ที่ดินของจำเลยที่ 2 เสียหายน้อยที่สุดและเป็นทางจำเป็นซึ่งพอควรแก่ความจำเป็นของโจทก์ ดังนี้จำเลยไม่มีสิทธิก่อกำแพงปิดกั้นทางพิพาท.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเปิดทางพิพาท อันเป็นทางจำเป็นและตกเป็นภารจำยอมให้แก่โจทก์ทั้งสองและชาวบ้านใช้สัญจรไปมาเช่นเดิมและให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนภารจำยอมทางพิพาทดังกล่าว ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดปัตตานี หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า ทางพิพาทไม่เคยเป็นทางจำเป็นหรือภารจำยอม โจทก์ทั้งสองและชาวบ้านอื่นไม่เคยใช้ทางพิพาท โจทก์ทั้งสองยังมีทางอื่นออกสู่ถนนใหญ่ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ให้จำเลยทั้งสองเปิดทางพิพาทให้โจทก์ทั้งสองใช้เข้าออก คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 135/2528 คดีหมายเลขแดงที่ 262/2528 ของศาลชั้นต้น ระหว่างนายเจ๊ะเต๊ะ ดือมอง โจทก์ นายเชษฐาผาติดำรงค์กุล จำเลยที่ 1 นางสุจินหรือคิ่มหรือคิ่น ผาติดำรงค์กุลจำเลยที่ 2 หรือไม่และทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องนั้นจำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทมูลคดีนี้เป็นมูลคดีเดียวกับคดีหมายเลขดำที่135/2528 หมายเลขแดงที่ 262/2528 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ที่ 1ถอนฟ้องไปแล้วและนำมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต เห็นว่า ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4105 ตำบลบานาอำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2528 โดยนายสา และ ตีมุง ยกให้ โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่28 กุมภาพันธ์ 2529 หลังจากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4105 ดังกล่าวแล้ว โดยอ้างว่าทางพิพาทตกเป็นทางจำเป็นที่โจทก์ทั้งสองใช้เดินออกสู่ถนน รวมโกมุท จำเลยทั้งสองกั้นกำแพงไม่ให้โจทก์ทั้งสองผ่านเช่นนี้ โจทก์ทั้งสองในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4105 ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองเปิดทางพิพาทได้ ทั้งนี้โดยโจทก์ทั้งสองไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ครอบครองทางพิพาทดังที่จำเลยทั้งสองต่อสู้แต่อย่างใด และการที่โจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 135/2528 หมายเลขแดงที่ 262/2528 ของศาลชั้นต้นซึ่งก็คือโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้ ถอนฟ้องคดีดังกล่าวแล้วนำมูลคดีในคดีดังกล่าวมาฟ้องเป็นคดีนี้นั้นก็เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมาย มิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้…
ในเรื่องฟ้องซ้ำนั้น เห็นว่าคดีหมายเลขดำที่ 135/2528หมายเลขแดงที่ 262/2528 ของศาลชั้นต้น โจทก์ในคดีดังกล่าวได้ถอนฟ้องหลังจากสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายสืบก่อนได้ 1 ปาก คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นจึงยังมิได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแต่อย่างใด การที่โจทก์ทั้งสองนำมูลคดีเดียวกันกับคดีดังกล่าวมาฟ้องเป็นคดีนี้ จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 135/2528 หมายเลขแดงที่262/2528 ของศาลชั้นต้น…
ในเรื่องทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่นั้น เห็นว่าตามรูปจำลองแผนที่และเขตติดต่อของที่ดินของโจทก์ทั้งสองตามโฉนดที่ดินเอกสารหมายจ.1 เห็นได้ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่โดยรอบ โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะ ซึ่งตามแผนที่พิพาทคือถนนรามโกมุทได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ส่วนโจทก์ทั้งสองจะผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่แปลงใดออกสู่ทางสาธารณะนั้น… ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทเป็นทางออกสู่ถนนรามโกมุทมา 40 กว่าปีแล้ว โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้ใช้ทางอื่นออกสู่ถนนสาธารณะ โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นในการผ่านออกสู่ทางสาธารณะ… เหล่านี้แสดงว่าทางออกสู่ทางสาธารณะที่มุมขวาด้านบนของโฉนดที่ดินเลขที่12499 เอกสารหมาย ล.1 ของจำเลยที่ 2 ซึ่งรวมถึงทางพิพาทด้วยนั้นมีลักษณะเป็นถนนและมีขนาดกว้างพอที่รถยนต์กระบะขนาดเล็กจะผ่านได้ ซึ่งเชื่อว่าคงมีขนาดความกว้างตามที่ปรากฏในแนวเส้นสีแดงที่ระบุว่าเป็นทางเดินในแผนที่พิพาทนั่นเอง ทั้งทางพิพาทดังกล่าวก็อยู่ริมสุดของเขตที่ดินของจำเลยที่ 2 นับว่าจะทำให้ที่ดินของจำเลยที่ 2 เสียหายน้อยที่สุด ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาฟังได้ว่าทางพิพาทตามที่ปรากฏในแผนที่พิพาทเป็นทางจำเป็นที่พอควรกับความจำเป็นของโจทก์ทั้งสองที่จะใช้เป็นทางผ่านออกสู่ทางสาธารณะ จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิก่อกำแพงปิดกั้นทางพิพาทดังกล่าว…”
พิพากษายืน.

Share