คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 185/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก.ม.ลักษณะผัวเมียไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ให้มีการแยกสินบริคณห์ โดยไม่ได้ฟ้องหย่า แต่ก็ไม่มีบังคับไว้ว่าถ้ายังไม่หย่า จะต้องบริคณห์ทรัพย์สินกันเสมอไปจะแยกมิได้
การที่จะนำ ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา 1472, 1467 มาใช้แก่คู่สมรส ซึ่งสมรสก่อนใช้ ป.ม.แพ่ง ฯ บรรพ 5 จึงไม่เป็นการกระทบกระเทือน ถึงการสมรสหรือสัมพันธ์ในครอบครัวตามความหมายที่ พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่ง ป.ม.แพ่งฯ พ.ศ. 2477 มาตรา 4(1) ยกเว้นไว้แล้วนั้นแต่อย่างใด
ฟ้องโจทก์ขอให้แยกสินบริคณห์ถ้าสั่งแยกไม่ได้ จึงขอให้สั่งให้โจทก์มีชื่อร่วมในโฉนด ไม่เป็นคำขอที่ขัดกันและไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม เพราะโจทก์ไม่ได้ขอทั้ง 2 อย่าง โจทก์ขออย่างแรกก่อน ต่อเมื่อไม่ได้ จึงขออย่างที่สอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากัน ระหว่างอยู่กินด้วยกัน เกิดที่ดินเป็นสินสมรส ๔ แปลง จำเลยได้เอาที่ดินไปจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และไม่แบ่งเงินให้โจทก์ จำเลยยักย้ายและจะยักย้ายสินบริคณห์ต่อไปอีก จึงขอให้ศาลสั่งแยกสินบริคณห์ หรือถ้าสั่งไม่ได้ก็ให้โจทก์มีชื่อร่วมในโฉนด จำเลยให้การต่อสู้ว่า การที่โจทก์ขอให้ศาลแยกสินบริคณห์หรือลงชื่อในโฉนด โดยอาศัย ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๑๔๗๒,๑๔๖๗ นั้น ไม่เกี่ยวกับสามีภริยาที่สมรสกันก่อน ใช้ ป.ม.แพ่งฯ ดังระบุไว้ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ ป.ม.แพ่งฯ บรรพ ๕ พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๔(๑) และขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้น ตามมาตรา ๒๔ ป.ม.วิ.แพ่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มีสิทธิอ้างเหตุที่สามีจัดการให้เกิดเสียหายแก่สินบริคณห์ขึ้น ขอแบ่งสินบริคณห์หรือให้ใส่ชื่อโจทก์ในเอกสารได้ ส่วนการแบ่งทรัพย์ต้องเป็นไปตามกฎหมายเก่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตาม พ.ร.บ. ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ ๕ มาตรา ๔(๑) บทบัญญัติบรรพ ๕ ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรส ซึ่งได้มีอยู่ก่อนวันใช้ ป.ม.แพ่งฯ บรรพ ๕ ทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรสนั้น ก.ม.ผัวเมียไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ให้มีการแยกสินบริคณห์โดยไม่ได้ฟ้องหย่า แต่ก็ไม่มีบังคับไว้ว่า ถ้ายังไม่หย่าจะต้องบริคณห์ทรัพย์สินกันเสมอไป จะแยกมิได้ เรื่องลงชื่อในหนังสือสำคัญก็เช่นเดียวกัน การนำ ป.ม.แพ่งฯ บรรพ ๕ จึงไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรส หรือสัมพันธ์ในครอบครัวตามความหมายที่ พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่ง ป.ม.แพ่งฯ พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๔(๑) ยกเว้นไว้นั้นแต่อย่างใด
ส่วนคำขอของโจทก์ ขอให้แยกสินบริคณห์ ถ้าสั่งแยกไมไ่ด้ จึงขอให้สั่งให้โจทก์มีชื่อร่วมในโฉนด คำขอเช่นนี้ไม่ขัดกัน ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม เพราะโจทก์ไม่ได้ขอทั้ง ๒ อย่าง โจทก์ขออย่างแรกก่อน ต่อเมื่อไม่ได้ จึงขออย่างที่สอง
พิพากษายืน

Share