แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
(1) เมื่อคู่ความรับกันว่า ศาลได้พิพากษาในอีกคดีหนึ่งถึงที่สุดแล้วว่าบุตรเป็นของบิดา แล้วต่างไม่สืบพยาน เป็นแต่ขอให้ศาลวินิจฉัยต่อไปตามท้องสำนวนคดีนี้ที่มีมาในประเด็นว่า โจทก์มีอำนาจตามกฎหมายเรียกบุตรคืนจากจำเลย (หมายถึงบิดา) หรือไม่ หาใช่เป็นการท้ากันแต่เพียงว่า ถ้ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์จำเลย ซึ่งทำให้ฟ้องคดีต่อศาลได้แล้ว ก็ให้โจทก์ชนะคดีไม่ยาก แต่ขอให้ศาลวินิจฉัยไปตามท้องสำนวนว่าจะทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยส่งเด็กชายสุรินทร์หรือไม่ ทำให้จำเลยมีนิติสัมพันธ์ต้องส่งเด็กชายสุรินทร์แก่โจทก์หรือไม่ (2) เมื่อคดีที่รับกันนั้นฟังได้ว่าบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองซึ่งมาตรา1537 บัญญัติว่าอำนาจนี้อยู่แก่บิดา และให้ผู้ใช้อำนาจนี้มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตร แต่โจทก์หามีสิทธิเช่นว่านี้ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกเด็กชายสุรินทร์จากจำเลย จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ไม่มีหน้าที่ต้องส่งเด็กชายสุรินทร์แก่โจทก์โจทก์จึงไม่มีทางชนะคดีตามข้อตกลง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยส่งเด็กชายสุรินทร์ให้โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้หลายประการ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526บัญญัติว่า เด็กเกิดก่อนสมรสจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย (ของบิดา) ต่อเมื่อ … ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร (ของบิดา) และเมื่อปรากฏตามคำรับกันของคู่ความว่าเวลานี้ศาลได้พิพากษาในคดีแพ่งแดงที่135/2504 ว่าเด็กชายสุรินทร์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 (บิดา) ซึ่งเป็นเวลาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้ และปรากฏว่าคำพิพากษาดังกล่าวได้เด็ดขาดคู่ความไม่ฎีกาต่อไป ดังนั้นเด็กชายสุรินทร์จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ด้วยและในกรณีที่เด็กชายสุรินทร์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และจำเลยที่ 1 และยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองมาตรา 1537 บัญญัติว่า อำนาจปกครองนั้นอยู่แก่บิดา คือ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผู้ใช้อำนาจปกครองจึงมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของเด็กชายสุรินทร์ โจทก์หามีสิทธิอันนี้ไม่ การที่ขณะนี้เด็กชายสุรินทร์อยู่กับจำเลยและปรากฏตามคำฟ้องและคำให้การว่า โจทก์ไปขอรับจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ขัดขวางนั้น เป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจปกครอง กำหนดที่อยู่ของเด็กชายสุรินทร์ให้อยู่กับจำเลยไม่ให้อยู่กับโจทก์ โจทก์มิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครอง จึงไม่มีสิทธิตามมาตรา 1539 ที่จะกำหนดที่อยู่ของเด็กชายสุรินทร์ ไม่มีสิทธิเรียกเด็กชายสุรินทร์จากจำเลย โจทก์อ้างว่าไม่มีกฎหมายห้ามหญิงฟ้องสามีเรียกบุตร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องได้ ดังนั้น โจทก์ย่อมชนะคดีตามข้อตกลง นั้น ข้อตกลงมีตามรายงานกระบวนพิจารณาเพียงว่าคู่ความไม่ติดใจสืบพยานขอให้ศาลวินิจฉัยไปตามท้องสำนวนในประเด็นว่า โจทก์มีอำนาจตามกฎหมายเรียกบุตรคืนจากจำเลยหรือไม่ กล่าวโดยเฉพาะคู่ความมิได้ท้ากันว่า เพียงมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์และจำเลยตามกฎหมายแพ่ง ซึ่งทำให้โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลได้แล้ว ก็ให้โจทก์ชนะคดี หากแต่ขอให้ศาลวินิจฉัยไปตามท้องสำนวนว่า จะทำให้โจทก์มีสิทธิตามกฎหมายเรียกให้จำเลยส่งเด็กชายสุรินทร์แก่โจทก์หรือไม่ จะทำให้จำเลยมีนิติสัมพันธ์ต้องส่งเด็กชายสุรินทร์แก่โจทก์หรือไม่
เมื่อข้อเท็จจริงตามท้องสำนวน จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์มิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1539 ที่จะกำหนดที่อยู่ของเด็กชายสุรินทร์ ที่จะเรียกเด็กชายสุรินทร์คืนจากจำเลย จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ ไม่มีหน้าที่ต่อโจทก์ที่จะต้องส่งเด็กชายสุรินทร์ให้โจทก์ดังฟ้อง ดังนั้น โจทก์ก็ไม่ชนะคดีตามข้อตกลง
พิพากษายืน