แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 243 (2) เป็นการกระทำที่มีเจตนาทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในลักษณะต่อเนื่องกัน อันเป็นผลทำให้การซื้อขายหลักทรัพย์นั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด และการกระทำดังกล่าวได้กระทำไปเพื่อชักจูงให้บุคคลทั่วไปทำการซื้อหรือขายหลักทรัพย์นั้น พฤติการณ์ในลักษณะต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ร่วมกันทำการซื้อขายหุ้นธนาคาร น. ในช่วงเกิดเหตุ จนทำให้มีปริมาณในการซื้อขายหุ้นดังกล่าวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และมีระดับราคาเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่มีข้อมูลหรือปัจจัยใดมาสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้ ทั้งราคาหุ้นดังกล่าวก็เพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่มีข้อมูลใดที่จะส่งผลให้การซื้อขายหุ้นเปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้นได้เช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นของธนาคารอื่นที่มีสินทรัพย์และผลประกอบการระดับเดียวกัน การซื้อขายหุ้นนี้จึงเป็นการซื้อขายหุ้นที่ผิดไปจากสภาพปกติของตลาดอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งซื้อหุ้นอันมีลักษณะเป็นการชี้นำนักลงทุนทั่วไปว่ามีนักลงทุนจำนวนมากสนใจซื้อหุ้นดังกล่าวจนทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น หรือพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่มีการส่งคำสั่งซื้อโดยใช้คำสั่งย่อยคำสั่งละ 10,000 หุ้น ก็เป็นไปตามความต้องการของจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 เพื่อให้นักลงทุนทั่วไปเข้าใจว่ามีนักลงทุนเป็นจำนวนมากสนใจซื้อหุ้นดังกล่าว จนมีนักลงทุนทั่วไปซื้อหุ้นนี้จนมีราคาสูงขึ้นในวันนั้น ๆ ซึ่งหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องการซื้อหุ้นดังกล่าวไว้เก็งกำไรจริง ย่อมต้องเข้าซื้อหุ้นขณะที่มีราคาถูกแล้วรอไว้ขายเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกของตลาด พฤติการณ์ในการซื้อขายหุ้นดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในขณะเกิดเหตุ หาใช่เป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไรตามที่นักลงทุนทั่วไปปฏิบัติกัน จึงเป็นการซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกัน เป็นผลให้การซื้อขายหุ้นดังกล่าวผิดไปจากสภาพปกติของตลาดเพื่อชักจูงให้บุคคลทั่วไปทำการซื้อหรือขายหุ้นดังกล่าว อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 243, 244, 296 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 50, 83 และห้ามจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีกำหนด 5 ปี
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 243 (2), 296 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 4,000,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน 2 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้สั่งห้ามจำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 50 นั้น ปรากฏว่าคดีนี้ศาลรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจสั่งห้ามประกอบอาชีพตามที่โจทก์ขอได้ คำขอส่วนนี้และข้อหาอื่นให้ยก และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 8,000,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด ซึ่งเป็นซับโบรกเกอร์ซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และนางสาวอัษฏ์คุณเป็นลูกจ้างของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์เจ้าของเมโทรสลิมคลีนิค จำเลยที่ 6 และนางสาวจิงจูเป็นลูกจ้างทำงานที่เมโทรสลิมคลีนิคของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยที่ 3 ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักเพชรบุรี บัญชีเลขที่ 001-1-16843-5 และวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 นางสาวอัษฏ์คุณขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ บัญชีเลขที่ 001-1-16841-8 แล้ว จำเลยที่ 3 กับนางสาวอัษฏ์คุณมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าว การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประชาชนทั่วไปไม่สามารถซื้อหรือขายหลักทรัพย์ได้โดยตรง แต่จะต้องทำการซื้อขายผ่านตัวแทนซึ่งเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเรียกว่า โบรกเกอร์หรือซับโบรกเกอร์ แต่ซับโบรกเกอร์ไม่สามารถทำการซื้อขายหลักทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้โดยตรง หากจะทำการซื้อขายหลักทรัพย์แทนลูกค้าจะต้องแจ้งความจำนงขอซื้อหรือขายหลักทรัพย์ผ่านโบรกเกอร์อีกทอดหนึ่ง ผู้ที่ต้องการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะต้องเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์กับโบรกเกอร์หรือซับโบรกเกอร์แล้วแจ้งความจำนงให้โบรกเกอร์หรือซับโบรกเกอร์ที่ตนเปิดบัญชีทำคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายเข้าไปที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การซื้อหรือขายหลักทรัพย์ไม่สามารถทำคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายได้ตามใจชอบ จะต้องเสนอราคาซื้อหรือขายต่ำสุดหรือสูงสุดไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายในวันก่อนหน้านั้น เมื่อโบรกเกอร์ส่งคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายไปที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว คำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายจะแสดงบนจอคอมพิวเตอร์ โดยคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายคำสั่งซื้อจะจัดลำดับจากคำสั่งซื้อราคาสูงสุดเรียงลงไปถึงคำสั่งซื้อราคาราคาต่ำสุด ส่วนฝ่ายคำสั่งขายจะจัดลำดับจากคำสั่งขายราคาต่ำสุดเรียงไปจนถึงคำสั่งขายราคาสูงสุด หากมีการส่งคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายที่ราคาเท่ากัน คำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายจะเรียงตามลำดับก่อนหลังที่มีการส่งคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายเรียงกันไป ขณะเกิดเหตุตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเปิดทำการเวลา 9 นาฬิกา แต่คำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายสามารถทำคำสั่งส่งไปได้ตั้งแต่เวลา 8.30 นาฬิกา แต่ยังไม่มีผลให้ทำการซื้อขายกันจนกว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเปิดทำการ เมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดทำการระบบคอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะจัดลำดับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายและให้มีผลเป็นการซื้อขายกันโดยวิธีจับคู่ซื้อขายด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยจะจับคู่คำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายในราคาซื้อหรือขายที่ตรงกัน หากราคาซื้อและราคาขายไม่ตรงกันก็อาจมีการจับคู่ให้มีการซื้อขายกันในระดับราคาซื้อที่ดีที่สุดและราคาขายที่ดีที่สุด ส่วนคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายที่ยังไม่เกิดการซื้อขายกันก็จะเรียงลำดับบนจอคอมพิวเตอร์ด้านละ 3 ราคา ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 ขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัดต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ จำกัด จำเลยที่ 2 ขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัดต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนไทย จำกัด ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 และนางสาวจิงจูเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด เพื่อให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 และนางสาวจิงจูซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนนายสมบูรณ์ นายสุรศักคิ์ นายนพคุณ นายสุธน และนายหู ต่างมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว และต่างยินยอมให้จำเลยที่ 2 ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ หุ้นของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีชื่อย่อใช้เรียกขานกันว่า “SCIB” หุ้น “SCIB” ในเดือนมกราคม 2535 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 3,930,000 หุ้น มีราคาปิดเฉลี่ยหุ้นละ 7.91 บาท เดือนกุมภาพันธ์ 2535 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 1,770,000 หุ้น มีราคาปิดเฉลี่ยหุ้นละ 7.99 บาท เดือนมีนาคม 2535 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 1,270,000 หุ้น มีราคาปิดเฉลี่ยหุ้นละ 7.82 บาท เดือนเมษายน 2535 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 1,700,000 หุ้น มีราคาปิดเฉลี่ยหุ้นละ 7.74 บาท เดือนพฤษภาคม 2535 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 1,530,000 หุ้น ราคาปิดเฉลี่ยหุ้นละ 7.33 บาท ตามราคาปริมาณและมูลค่าการซื้อขายหุ้น “SCIB” ระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2535 หุ้น “SCIB” มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 840,000 หุ้น ราคาปิดเฉลี่ยหุ้นละ 7.08 บาท วันที่ 17 มิถุนายน 2535 มีปริมาณการซื้อขาย 8,395,700 หุ้น ราคาปิดเฉลี่ยหุ้นละ 7.90 บาท วันที่ 18 มิถุนายน 2535 มีปริมาณการซื้อขาย 18,972,200 หุ้น ราคาปิดเฉลี่ยหุ้นละ 8.60 บาท วันที่ 19 มิถุนายน 2535 มีปริมาณการซื้อขาย 20,868,900 หุ้น ราคาปิดเฉลี่ยหุ้นละ 8.20 บาท วันที่ 22 มิถุนายน 2535 มีปริมาณการซื้อขาย 28,951,200 หุ้น ราคาปิดเฉลี่ยหุ้นละ 9.00 บาท วันที่ 23 มิถุนายน 2535 มีปริมาณการซื้อขาย 37,286,100 หุ้น ราคาปิดเฉลี่ยหุ้นละ 9.90 บาท และวันที่ 24 มิถุนายน 2535 มีปริมาณการซื้อขาย 54,336,700 หุ้น ราคาปิดเฉลี่ยหุ้นละ 10.25 บาท เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 2 ซื้อหุ้น “SCIB” โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายสมบูรณ์ 1,378,000 หุ้น และใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายสุรศักดิ์ 4,240,000 หุ้น รวม 5,618,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 66.91 ของปริมาณการซื้อขายหุ้น “SCIB” วันนั้น วันที่ 18 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 2 ซื้อหุ้น “SCIB” โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายนพคุณ 1,285,900 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 6.77 ของปริมาณการซื้อขายหุ้น “SCIB” ในวันนั้น และขายหุ้น “SCIB” ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 จำนวน 2,500,000 หุ้น วันที่ 19 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 2 ซื้อหุ้น “SCIB” โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 3 จำนวน 700,000 หุ้น ของจำเลยที่ 4 จำนวน 800,000 หุ้น ของจำเลยที่ 5 จำนวน 800,000 หุ้น ของจำเลยที่ 6 จำนวน 877,500 หุ้น และของนางสาวจิงจู 700,000 หุ้น รวม 3,788,500 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 18.58 ของปริมาณการซื้อขายหุ้น “SCIB” ในวันนั้น จำเลยที่ 2 ขายหุ้น “SCIB” ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 จำนวน 1,663,600 หุ้น และในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายหู 300,000 หุ้น วันที่ 22 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1 ขายหุ้น “SCIB” ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จำนวน 1,900,000 หุ้น และในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 จำนวน 3,000,000 หุ้น วันที่ 23 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 2 ขายหุ้น “SCIB” ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายสุธน 1,275,000 หุ้น ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด 4,725,000 หุ้น และในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายสาคร 600,000 หุ้น และวันที่ 24 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 2 ขายหุ้น “SCIB” ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายนพคุณ 2,600,000 หุ้น ตามรายการซื้อขายหุ้นธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เงินค่าหุ้น “SCIB” ที่จำเลยที่ 2 สั่งซื้อดังกล่าวมีการชำระโดยมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คนำเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 001-1-16843-5 ที่จำเลยที่ 3 เปิดบัญชีไว้ที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักเพชรบุรี มาชำระเงินค่าหุ้น และเงินค่าหุ้น “SCIB” ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สั่งขายมีการนำเงินฝากเข้าบัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 001-1-16843-5 เช่นกัน ตามรายงานสรุปข้อเท็จจริงในการซื้อขายหุ้นธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับความผิดฐานซื้อขายหลักทรัพย์โดยรู้เห็นหรือตกลงกับบุคคลอื่น ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 243 (1) ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคดีในส่วนของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อแรกว่า การซื้อขายหุ้น “SCIB” ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 243 (2) หรือไม่ เห็นว่า ความผิดตามมาตรา 243 (2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นการกระทำที่มีเจตนาทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในลักษณะต่อเนื่องกัน อันเป็นผลทำให้การซื้อขายหลักทรัพย์นั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด และการกระทำดังกล่าวได้กระทำไปเพื่อชักจูงให้บุคคลทั่วไปทำการซื้อหรือขายหลักทรัพย์นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าหุ้น “SCIB” ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2535 ถึงเดือนพฤษภาคม 2535 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยวันละประมาณ 1,270,000 หุ้น ถึง 1,770,000 หุ้น ราคาปิดเฉลี่ยหุ้นละ 7.74 บาท ถึง 7.99 บาท และระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2535 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 840,000 หุ้น ราคาปิดเฉลี่ยหุ้นละ 7.08 บาท ผลการวิเคราะห์ของนายไกรทัศน์ นายนิวัฒน์ และนายปรีดาน่าเชื่อถือมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า หุ้น “SCIB” ที่มีการเปลี่ยนแปลงมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นกว่าปริมาณการซื้อขายในวันก่อนหน้านั้นประมาณ 1,000 เปอร์เซ็นต์ และมีราคาซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นนั้น มิใช่เป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ในสภาวะปกติ จำเลยที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้างลอย ๆ ว่า หุ้น “SCIB” มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุน ที่อ้างว่าหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซี เอฟ จำกัด จะได้รับอนุญาตให้เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ก็ปรากฏตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่า หุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซี เอฟ จำกัด ได้รับอนุญาตให้เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2536 และวันที่ 4 ธันวาคม 2535 ตามลำดับ หลังเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ซื้อหุ้น “SCIB” ระหว่างวันที่ 17 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2535 แล้ว กลับขายหุ้น “SCIB” ไปเกือบทั้งหมดในทันที หาได้มีการถือครองหุ้นไว้เพื่อรอให้หุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซี เอฟ จำกัด เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอันจะส่งผลให้หุ้น “SCIB” มีราคาเพิ่มขึ้นแล้วค่อยขายหุ้น “SCIB” ไปเพื่อทำกำไร ตามที่กล่าวอ้าง และได้ความตามรายงานการวิเคราะห์การซื้อขายหุ้นธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2535 เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว หุ้น “SCIB” ก็คงมีปริมาณการซื้อขายและราคาเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และมีความเคลื่อนไหวในช่วงแคบ ๆ จึงเป็นไปไม่ได้ที่หุ้น “SCIB” จะมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากข่าวการขายหุ้นเพิ่มทุนตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้าง ที่ข้อเท็จจริงได้ความว่า วันที่ 17 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 2 ซื้อหุ้น “SCIB” จำนวน 5,618,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 66.91 ของปริมาณการซื้อขายในวันนั้น วันที่ 18 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 2 ซื้อหุ้น “SCIB” จำนวน 1,285,900 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 6.77 ของปริมาณการซื้อขายในวันนั้น และวันที่ 19 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 2 ซื้อหุ้น “SCIB” จำนวน 3,788,500 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 18.58 ของปริมาณการซื้อขายในวันนั้น โดยมีระดับราคาเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะวันที่ 17 และวันที่ 18 มิถุนายน 2535 มีระดับราคาใกล้เคียงกับราคาสูงสุดที่ทำการซื้อขายได้ในวันนั้น ต่อมาวันที่ 22 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายหุ้น “SCIB” และในการซื้อขายหุ้น “SCIB” ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 และนางสาวจิงจูเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด เพื่อให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายสมบูรณ์ นายสุรศักคิ์ นายนพคุณ นายสุธน และนายหู มาทำการซื้อขายหุ้น “SCIB” ทั้งเงินค่าหุ้น “SCIB” ที่จำเลยที่ 2 สั่งซื้อดังกล่าวมีการชำระโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คนำเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 001-1-16843-5 ที่จำเลยที่ 3 เปิดบัญชีไว้ที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักเพชรบุรี ตามที่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินออกจากบัญชีได้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำการซื้อขายหุ้น “SCIB” ในช่วงเกิดเหตุจนมีปริมาณเปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว และมีระดับราคาเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่มีข้อมูลหรือปัจจัยใดมาสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การซื้อขายหุ้น “SCIB” เป็นการซื้อขายที่ผิดไปจากสภาพปกติของตลาดอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2
มีปัญหาต่อมาว่า การซื้อขายหุ้น “SCIB” ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขณะเกิดเหตุ เป็นการซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกัน เพื่อชักจูงให้บุคคลทั่วไปทำการซื้อหรือขายหลักทรัพย์นั้น หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ไม่ได้นำนักลงทุนรายอื่นมาเป็นพยานให้ข้อเท็จจริงได้ความว่าเหตุที่เข้ามาซื้อขายหุ้น “SCIB” ขณะเกิดเหตุ เนื่องจากพบว่าปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นและคาดหมายว่าจะมีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามากว้านซื้อหุ้น “SCIB” จนทำให้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา แต่หุ้น “SCIB” ในวันที่ 16 มิถุนายน 2535 มีปริมาณการซื้อขายเพียง 868,700 หุ้น มีราคาปิดหุ้นละ 7.20 บาท ส่วนวันที่ 17 มิถุนายน 2535 มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มสูงถึง 8,395,700 หุ้น มีราคาปิดเพิ่มขึ้นถึงหุ้นละ 7.90 บาท โดยเฉพาะจำเลยที่สั่งซื้อหุ้น “SCIB” มีปริมาณการซื้อขายจำนวนสูงกว่าการซื้อขายหุ้น “SCIB” ในวันที่ 16 มิถุนายน 2535 เป็นจำนวนประมาณ 800 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก ส่วนราคาปิดก็สูงสุดเท่าที่สามารถทำการซื้อขายได้ในวันนั้น โดยจำเลยที่ 2 ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายสมบูรณ์และนายสุรศักดิ์ซื้อหุ้น “SCIB” 5,618,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 66.91 ของปริมาณการซื้อขายหุ้น “SCIB” ในวันนั้น และมีคำสั่งซื้อหุ้น “SCIB” ที่ราคาหุ้นละ 7.30 บาท และเพิ่มสูงขึ้นจนถึงราคาหุ้นละ 7.90 บาท การซื้อขายหุ้น “SCIB” ในวันที่ 17 มิถุนายน 2535 นายนิวัฒน์มีความเห็นว่าหากเป็นฝ่ายผู้ซื้อ ราคาที่ดีที่สุดจะอยู่ที่หุ้นละ 7.20 บาท เท่ากับราคาปิดของวันก่อนหน้านั้น แต่ก่อนตลาดเปิดนายสมบูรณ์มีคำสั่งซื้อที่ราคาหุ้นละ 7.30 บาท ทั้งคำสั่งซื้อของนายสมบูรณ์และนายสุรศักดิ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตั้งรอซื้อเพื่อพยุงราคามิให้ตกลงมา โดยไม่มีข้อมูลหรือปัจจัยใดมาสนับสนุนให้เห็นว่าหุ้น “SCIB” มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้ ถือว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงจำนวนสูงมาก ทั้งจำเลยที่ 2 มีคำสั่งซื้อหุ้น “SCIB” โดยในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายสมบูรณ์ได้ใช้คำสั่งย่อยคำสั่งละ 10,000 หุ้น ถึง 100 คำสั่ง และในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายสุรศักดิ์ใช้คำสั่งย่อยคำสั่งละ 10,000 หุ้น ถึง 224 คำสั่ง ซึ่งในข้อนี้นายเสน่ห์หรือฐิติกร เจ้าหน้าที่การตลาดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่นายสมบูรณ์เปิดบัญชีไว้เบิกความว่า ที่มีการส่งคำสั่งซื้อหุ้น “SCIB” คำสั่งละ 10,000 หุ้น เป็นความต้องการของลูกค้า แม้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะไม่มีข้อกำหนดห้ามไว้ แต่ต้องใช้คนหลายคนในการส่งคำสั่งซึ่งไม่สะดวก จากคำเบิกความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเหตุที่มีการส่งคำสั่งซื้อโดยใช้คำสั่งย่อยคำสั่งละ 10,000 หุ้น ก็เป็นไปตามความต้องการของจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 เพื่อให้นักลงทุนทั่วไปเข้าใจว่ามีนักลงทุนเป็นจำนวนมากสนใจซื้อหุ้น “SCIB” จนมีนักลงทุนทั่วไปซื้อหุ้น “SCIB” ทำให้มีราคาสูงขึ้นในวันนั้น นอกจากนี้หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องการซื้อหุ้น “SCIB” ไว้เก็งกำไรจริง ย่อมจะต้องเข้าซื้อหุ้น “SCIB” ขณะที่มีราคาถูกแล้วรอไว้ขายเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกของตลาด กรณีนี้หุ้น “SCIB” มีราคาปิดในวันที่ 16 มิถุนายน 2535 เพียงหุ้นละ 7.20 บาท หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องการซื้อไว้เก็งกำไร ก็น่าจะหาหนทางซื้อในราคาที่ต่ำ เพื่อจะขายได้เมื่อราคาเพิ่มสูงขึ้นในภายภาคหน้า แต่การซื้อหุ้น “SCIB” ของจำเลยที่ 2 ในวันที่ 17 มิถุนายน 2535 กลับได้ความว่าก่อนเปิดตลาดไม่มีนักลงทุนรายใดส่งคำเสนอขอซื้อที่ราคาหุ้นละ 7.30 บาท หรือสูงกว่านั้น แต่จำเลยที่ 2 กลับมีคำสั่งซื้อที่ราคาหุ้นละ 7.30 บาท และจับคู่ซื้อขายกันจนทำให้มีราคาเปิดที่หุ้นละ 7.30 บาท ต่อมาเมื่อเปิดตลาดได้ส่งคำสั่งซื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนไปถึงราคา หุ้นละ 7.90 บาท มีผลให้มีการจับคู่ซื้อขายกันที่ราคาหุ้นละ 7.40 บาท 7.50 บาท และ 7.90 บาท ตามลำดับ อันมีลักษณะเป็นการชี้นำนักลงทุนทั่วไปว่ามีนักลงทุนจำนวนมากสนใจซื้อหุ้น “SCIB” จนทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าไม่ได้สั่งการให้ส่งคำสั่งซื้อเป็นคำสั่งย่อยคำสั่งละ 10,000 หุ้น แต่เป็นที่ระบบคอมพิวเตอร์ กลับได้ความตามคำเบิกความของนายนิวัฒน์และรายการซื้อขายหุ้นธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ในวันที่ 17 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งซื้อหุ้น “SCIB” คำสั่งละ 100,000 หุ้นบ้าง และ 10,000 หุ้นบ้าง หากเป็นที่ระบบคอมพิวเตอร์ตามที่อ้าง คำสั่งซื้อจะต้องมีแต่เฉพาะคำสั่งละไม่เกิน 10,000 หุ้นเท่านั้น เมื่อมีคำสั่งซื้อที่มีจำนวนหุ้นเกินกว่า 10,000 หุ้นปรากฏด้วย แสดงให้เห็นว่าคำสั่งซื้อที่เป็นคำสั่งย่อยคำสั่งละ 10,000 หุ้น มิได้เกิดจากระบบคอมพิวเตอร์ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้าง แต่เป็นเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องการให้ใช้คำสั่งย่อยตามที่ปรากฏ ส่วนวันที่ 18 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 2 ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายนพคุณซื้อหุ้น “SCIB” จำนวน 1,285,900 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 6.78 ของปริมาณการซื้อขายในวันนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนหุ้น “SCIB” ที่มีการซื้อขายในวันที่ 17 มิถุนายน 2535 แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่นายนิวัฒน์เบิกความว่าราคาหุ้น “SCIB” ผันผวน และได้ความว่าเมื่อเวลา 9.08 นาฬิกา จำเลยที่ 2 มีคำเสนอขอซื้อราคาหุ้น “SCIB” ที่ราคาหุ้นละ 8.40 บาท จับคู่ซื้อขายกันได้ 73,100 หุ้น ยังเหลือคำเสนอขอซื้อตั้งรอซื้อจำนวนหนึ่ง แต่จำเลยที่ 2 มีคำเสนอขอซื้อที่ราคาหุ้นละ 8.50 บาท เข้ามาจำนวนมากทำให้ราคาหุ้น “SCIB” ซื้อขายกันที่ราคาหุ้นละ 8.50 บาท จนมีราคาปิดที่หุ้นละ 8.60 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดที่ทำการซื้อขายได้ นายนิวัฒน์มีความเห็นว่าเหตุที่ราคาหุ้น “SCIB” ยังมีราคาที่สูงอยู่สืบเนื่องจากการซื้อขายหุ้น “SCIB” ในวันที่ 17 มิถุนายน 2535 ทั้งจำเลยที่ 2 มีคำสั่งซื้อในลักษณะเพื่อไล่ราคาให้อยู่ที่หุ้นละ 8.50 บาท ส่วนวันที่ 19 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 2 ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 และนางสาวจิงจูซื้อหุ้น “SCIB” 3,877,500 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 9.20 บาท ถึง 9.35 บาท คิดเป็นร้อยละ 18.58 ของปริมาณการซื้อขายหุ้น “SCIB” ในวันนั้น วันที่ 22 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ซื้อหุ้น “SCIB” คงแต่ขายหุ้น “SCIB” ออกไป และได้ความตามหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า บริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด ต้องการเข้ามากว้านซื้อหุ้น “SCIB” เพื่อเข้ามาบริหารกิจการธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งในข้อนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้นำสืบหักล้างว่าบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด มิได้เสนอข่าวตามดังกล่าว ทั้งนายนิวัฒน์ยังได้เบิกความถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด ว่า บริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด มีบุคคลในครอบครัวกาญจนพาศน์เป็นผู้บริหาร ส่วนจำเลยที่ 1 เดิมมีนามสกุลกาญจนพาสน์ เมื่อมาสมรสกับจำเลยที่ 2 จึงใช้นามสกุลจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด ทั้งเมื่อมีการเสนอข่าวดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด เข้ามากว้านซื้อหุ้น “SCIB” จริงตามที่เป็นข่าว ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าไม่มีเงินทุนจำนวนมากพอที่จะมากว้านซื้อหุ้น “SCIB” เพื่อกำหนดราคา แต่ตามข่าวย่อมส่งผลให้นักลงทุนทั่วไปหลงเชื่อว่าบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด เป็นนักลงทุนรายใหญ่มีเงินทุนจำนวนมากที่จะเข้ามากว้านซื้อหุ้น “SCIB” เพื่อลงทุนและบริหารกิจการธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่มีการเสนอข่าว จนทำให้หุ้น “SCIB” มีการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นทั้งปริมาณและราคาจากการเสนอข่าวดังกล่าวทำให้สอดรับกับข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อหุ้น “SCIB” จนทำให้นักลงทุนทั่วไปเข้าใจว่ามีบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด เข้ามากว้านซื้อหุ้น “SCIB” ทั้งระหว่างวันที่ 22 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้ซื้อหุ้น “SCIB” เพิ่มขึ้นอีกเลยแต่เหตุที่หุ้น “SCIB” ยังมีราคาสูงก็เป็นผลสืบเนื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อหุ้น “SCIB” ในระหว่างวันที่ 17 ถึง 19 มิถุนายน 2535 ไปเป็นจำนวนมากจนมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จนวันที่ 19 มิถุนายน 2535 มีราคาปิดเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นถึงหุ้นละ 8.20 บาท และมีคำขอซื้อในราคาที่เพิ่มขึ้นตลอด ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2535 มีการเสนอข่าวว่าบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด จะเข้ามาลงทุนในกิจการธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) โดยที่จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลในครอบครัวกาญจนพาสน์ ซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นการร่วมกันเสนอข่าวเพื่อให้นักลงทุนส่วนใหญ่สนใจเข้าซื้อหุ้น “SCIB” ในราคาที่เพิ่มสูงขึ้นตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อหุ้น “SCIB” ไว้ก่อนหน้านั้น พฤติการณ์ในการซื้อหุ้น “SCIB” ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวันที่ 17 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2535 หาใช่เป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไรตามที่นักลงทุนทั่วไปปฏิบัติกันตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบและฎีกา ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า ในการซื้อขายหุ้น “SCIB” ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามฟ้องมีลักษณะต่อเนื่องกัน อันเป็นผลให้การซื้อขายหุ้น “SCIB” ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด เพื่อชักจูงให้บุคคลทั่วไปทำการซื้อหรือขายหุ้น “SCIB” อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 243 (2) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน