แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในระหว่างที่พิจารณาคดี ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีหนึ่ง ภายหลังยื่นคำร้องเพิ่มเติมอีกว่า คดีที่ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลยกฟ้องเสียแล้ว จึงขอให้นับโทษต่อคดีใหม่อีกคดีหนึ่งต่อมาอีกปรากฏว่า คดีที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ลงโทษ โจทก์จึงกลับมาร้องขอใหม่ขอให้ศาลอุทธรณ์นับโทษจำเลยต่อจากคดีแรกอีก แต่คำร้องดังกล่าวติดอยู่ในสำนวนอีกสำนวนหนึ่งมิได้ส่งไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงมิได้กล่าวถึงคำร้องขอให้นับโทษต่อ ดังนี้ เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้นับโทษต่อ ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้นับโทษต่อได้
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2496 เวลากลางวันจำเลยมีอาวุธปืนยาวไว้คนละ 1 กระบอก โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และจำเลยทั้งสองสมคบพวกจะไปทำการปล้นทรัพย์ นายร้อยตำรวจตรีวินัย บุญประเสริฐ กับพวกเจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการจับกุมจำเลยกับพวก จำเลยทั้งสองกับพวกบังอาจสมคบกันใช้อาวุธปืนยิงนายร้อยตำรวจตรี วินัย กับพวกโดยเจตนาฆ่า หากนายร้อยตำรวจตรี วินัย กับพวกหลบเข้าที่กำบังเสียทันกระสุนที่จำเลยกับพวกยิงจึงไม่ถูก ทั้งนี้จำเลยกับพวกประสงค์จะต่อสู้ขัดขวางนายร้อยตำรวจตรี วินัย กับพวกเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อมิให้ทำการจับกุมจำเลยกับพวกตามอำนาจหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายเหตุเกิดที่ตำบลตะโหมด อำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 60, 63, 119, 120, 249, 250 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 และขอให้นับโทษนายไข่ เรืองรอด จำเลยต่อจากโทษในคดีหมายเลขดำที่ 220/2496
นายเพิ่ม รักเงิน จำเลยให้การรับสารภาพว่า ได้กระทำผิดจริงดังฟ้องทุกประการ
นายไข่ เรืองรอด จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ตลอดข้อหา
ทางพิจารณา โจทก์นำสืบว่า กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้ปราบปรามพวกผู้ร้ายสำคัญ ซึ่งมีนายพรากเป็นหัวหน้า นายร้อยตำรวจตรีวินัย บุญประเสริฐ จึงให้นายสิบตำรวจตรี นาม พรหมเทศ กับพลตำรวจดำชะนีทอง ปลอมตัวเป็นผู้ร้ายหลบหนีคดีไปสืบสวนและเข้าอยู่เป็นพวกผู้ร้ายหลายวันจนได้พบเห็นว่า จำเลยสองคนนี้กับคนอื่น ๆ อีกเป็นพวกผู้ร้ายคณะนี้ และในวันที่ 13 สิงหาคม 2496 พวกผู้ร้ายคณะนี้ประชุมกันตกลงว่า จะไปปล้นทรัพย์ที่ตลาดปากคลอง อำเภอควนขนุนและจะพากันเดินทางผ่านไปทางบ้านปลักปลอมในวันที่ 16 สิงหาคม 2496 เวลาเช้า นายสิบตำรวจตรี นามและพลตำรวจดำ และตำรวจอื่นอีก 5 นายจึงพากันไปซุ่มคอยอยู่ชายป่าปากทางที่พวกผู้ร้ายจะผ่านไป ตั้งแต่วันที่ 15 จนรุ่งขึ้นวันที่ 16 สิงหาคม 2496 เวลาตอนเที่ยงวันจึงเห็นผู้ร้าย 9 คน ถืออาวุธปืนครบมือเดินตามกันมาทางนั้นนายพรากเป็นคนนำหน้า นายไข่ จำเลยเดินเป็นคนที่ 8 พอเข้ามาใกล้ประมาณ 10 เมตร นายร้อยตำรวจตรีวินัย ร้องบังคับออกไปว่า”หยุด นี่ตำรวจ” ทันใดนายพรากใช้ปืนกลสะเต็นยิงมาทางนายร้อยตำรวจตรีวินัย 2 ชุด นายร้อยตำรวจตรี วินัย หลบเข้าที่กำบัง สั่งตำรวจยิงตอบไป พวกคนร้ายเลยถอยหนีแยกกันไป และถอยพลางยิงพลาง นายไข่กับนายเพิ่ม จำเลย ถอยกลับไปทางทุ่งนา และยิงตอบมาเหมือนกัน ยิงกันอยู่สัก 15 นาที ผู้ร้ายหนีไปได้หมด ตำรวจเก็บได้กระสุนปืนเล็กยาวของผู้ร้ายตกอยู่ 5 นัด กับหมวกและไฟฟ้าเดินทาง ต่อมาพวกจำเลยเข้ามาต่อสู้คดี
ฝ่ายจำเลยคงนำสืบพยานฐานที่อยู่
ศาลจังหวัดพัทลุงเชื่อตามหลักฐานพยานโจทก์ว่า นายพิน นายเพิ่มนายไข่ จำเลยกระทำผิดจริงดังฟ้อง (ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะนายไข่จำเลยที่ฎีกา) พิพากษาว่า นายไข่ เรืองรอด จำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 250, 60 วางโทษจำคุก 16 ปี และผิดพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ให้ปรับอีก 1,200 บาท ให้นับโทษนายไข่ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 443/2497
นายไข่ เรืองรอด จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
นายไข่ เรืองรอด จำเลยฎีกา
ฝ่ายโจทก์ก็ฎีกาขอให้นับโทษนายไข่ จำเลย ต่อจากโทษตามสำนวนอาญาหมายเลขดำที่ 122/2496 เลขแดงที่ 220/2496 ของศาลจังหวัดพัทลุงโดยอ้างว่า เมื่อคดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 26 สิงหาคม 2498 ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษานับโทษของนายไข่ เรืองรอด จำเลยต่อจากโทษตามสำนวนที่กล่าวนั้นด้วยเพราะคดีตามสำนวนนั้นศาลจังหวัดพัทลุงพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า นายไข่ เรืองรอด จำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 301 ให้ลงโทษจำคุก 12 ปี แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีนี้มิได้นับโทษต่อให้ หรือมีคำสั่งแต่ประการใดเลย
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว เห็นว่าตามคำนายสิบตำรวจตรีนาม และคำพลตำรวจดำ พยานโจทก์มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าพยานได้พบเห็นนายไข่ เรืองรอด จำเลยเป็นพวกผู้ร้ายอยู่ในคณะของนายพรากผู้เป็นหัวหน้า เพราะพยานทั้งสองได้ปลอมตัวเข้าไปสืบความเคลื่อนไหวของผู้ร้ายคณะนี้อยู่หลายวัน และไม่มีเหตุจะสงสัยว่าพยานทั้งสองจะแกล้งใส่ความเอานายไข่ จำเลยเปล่า ๆในวันที่โจทก์หาว่านายไข่ จำเลยกับพวกยิงเจ้าพนักงานนั้นเล่าก็ได้ความตามคำพยานโจทก์ว่า เหตุเกิดขึ้นในเวลากลางวัน พวกผู้ร้ายถืออาวุธปืนครบมือพากันเดินทางจะไปปล้นทรัพย์ ผ่านเข้ามาใกล้ที่พวกพยานโจทก์ซุ่มอยู่เพียงประมาณ 10 เมตร นายร้อยตำรวจตรีวินัยออกคำสั่งบังคับให้หยุด พวกผู้ร้ายกลับยิงมาทางเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อพวกผู้ร้ายหนีไปแล้วตำรวจเก็บได้กระสุนปืนเล็กยาวกับหมวกและไฟฉายของผู้ร้ายมาเป็นของกลาง คำพยานโจทก์จึงประกอบด้วยเหตุผลให้เชื่อฟังได้ว่า พวกผู้ร้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงเจ้าพนักงานตำรวจจริง และพยานโจทก์ยืนยันว่า นายไข่จำเลยถือปืนยาวเดินมาในพวกผู้ร้ายรายนี้เป็นคนที่ 8 แล้วได้ถอยไปทางทุ่งนากับนายเพิ่ม คำยืนยันของพยานโจทก์นี้ก็ไม่มีเหตุจะสงสัยที่จำเลยฎีกาว่า คำพยานโจทก์ไม่ยืนยันว่า เห็นนายไข่ จำเลยยิงเจ้าพนักงานตำรวจนั้น ข้อนี้เป็นแต่พยานมิได้เห็นขณะที่นายไข่ จำเลยยิงแต่พยานก็ว่า นายไข่ นายเพิ่ม จำเลยถอยพลางยิงพลาง เมื่อปรากฏว่านายไข่จำเลยเห็นพวกผู้ร้ายพากันเดินทางไปปล้นทรัพย์ นายไข่จำเลยถือปืนยาว เมื่อมาพบตำรวจเข้า หัวหน้าคณะของนายไข่ใช้ปืนกลยิงตำรวจก่อน ตำรวจจึงยิงตอบ พวกผู้ร้ายถอยพลางยิงพลาง นายไข่จำเลยถอยไปทางเดียวกับนายเพิ่ม และมีเสียงปืนยิงมาจากทางนายไข่นายเพิ่ม ทั้งมีกระสุนปืนเล็กยาวตกอยู่ด้วยดังนี้ ก็เป็นที่เห็นได้ว่า นายไข่ จำเลยได้ใช้ปืนที่ตนถืออยู่กับมือนั้นยิงเจ้าพนักงานตำรวจด้วยเช่นเดียวกับพวกของตน คนอื่น ๆ ที่สมคบกันมากระทำความผิดร้าย ฉะนั้น ที่ศาลทั้งสองฟังว่า นายไข่ จำเลยยิงเจ้าพนักงานตำรวจด้วยนั้น จึงชอบด้วยทางพิจารณาแล้ว ไม่มีเหตุใด ๆ ที่จะสงสัยว่า นายไข่ จำเลยจะมิได้ยิงเจ้าพนักงานด้วย ฎีกา นายไข่จำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของโจทก์นั้น ได้ความว่า ตามคำฟ้องโจทก์ได้ขอให้นับโทษนายไข่ จำเลยต่อจากโทษในคดีหมายเลขดำที่ 220/2496 ครั้นวันที่ 22 กรกฎาคม 2497 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดพัทลุงว่าคดีหมายเลขดำที่ 220/2496 นั้น ศาลพิพากษายกฟ้องเสียแล้ว จึงขอให้นับโทษนายไข่ จำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 122/2496 ซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลจังหวัดพัทลุงต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม 2497 โจทก์ยื่นคำร้องว่า คดีดำที่ 122/2496 นั้น ศาลพิพากษายกฟ้องเสียอีกแล้ว ขอให้นับโทษนายไข่ต่อจากคดีแดงที่ 443/2497 ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2498 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดพัทลุงว่า คดีดำที่ 122/2496 (แดงที่ 220/2496) นั้นโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ลงโทษจำคุกนายไข่ จำเลยฉะนั้น ขอให้ศาลอุทธรณ์นับโทษนายไข่จำเลยในคดีนี้ ต่อจากโทษให้คดีดำที่ 122/2496 คดีแดงที่ 220/2496 ด้วย ศาลจังหวัดพัทลุงสั่งให้ส่งคำร้องของโจทก์ไปศาลอุทธรณ์ แต่คำร้องของโจทก์ทั้งสามฉบับที่กล่าวมาแล้วได้กลัดติดไว้ในสำนวนเดิมที่โจทก์ฟ้องนายเพิ่มนายไข่ ไม่ได้นำมากลัดไว้ในสำนวนนี้ ซึ่งเป็นสำนวนที่รวมถ้อยคำสำนวนทั้งหมด เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีนี้ยืนตามศาลจังหวัดศาลอุทธรณ์จึงมิได้กล่าวถึงคำร้องของโจทก์ที่ขอให้นับโทษนายไข่จำเลย ต่อจากโทษในคดีดำที่ 122/2496 คดีแดงที่ 220/2496
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในระหว่างที่พิจารณาคดีนี้อยู่แล้วว่า ขอให้นับโทษนายไข่ จำเลย ต่อจากโทษของนายไข่ จำเลยในคดีดำที่ 122/2496 ซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นเหมือนกัน มิใช่ว่าโจทก์เพิ่งมาร้องขอในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คำร้องขอของโจทก์นี้จึงมีมาตั้งแต่ในศาลชั้นต้นการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้นับโทษนายไข่ จำเลยต่อจากโทษในคดีอื่นอีกก็เป็นโดยที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีดำที่ 122/2496 นั้นเสีย โจทก์จึงติดตามร้องขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีที่ศาลกำลังพิจารณาอยู่เพื่อมิให้ขาดคำขอ ให้นับโทษต่อกันได้ ดังนี้ จะถือว่า โจทก์สละละทิ้งคำขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีดำที่ 122/2496 ยังไม่ได้เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยในคดีดำที่ 122/2496 โจทก์จึงร้องขอให้ศาลอุทธรณ์นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดำที่ 122/2496 อีก เมื่อคำขอของโจทก์ได้มีมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้วก็ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิจารณาให้ได้ และศาลฎีกาเห็นว่า ไม่มีเหตุอย่างใดที่จะไม่นับโทษจำเลยต่อให้ตามโจทก์ขอ ฎีกาของโจทก์ฟังได้
ศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษนายไข่ เรืองรอด จำเลยยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ให้นับโทษนายไข่ เรืองรอด จำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของนายไข่ เรืองรอด จำเลยในคดีอาญาของศาลจังหวัดพัทลุงหมายเลขดำที่ 122/2496 หมายเลขแดงที่ 220/2496 ตามที่โจทก์ขอ