คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1845/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนสอดคล้องกับคำเบิกความของ ร. ว่าก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ขอให้หาคนไปยิงผู้ตายเพราะผู้ตายติดต่อฉันชู้สาวกับ ส. สามีจำเลยที่ 2ชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยที่ 1 รับสารภาพว่ารับจ้างจำเลยที่ 2ยิงผู้ตาย โดยจำเลยที่ 3 เป็นคนติดต่อ ประกอบกับผู้ตรวจพิสูจน์มีความเห็นว่าปลอกกระสุนปืนของกลางที่จำเลยที่ 1 นำยึดได้และหัวกระสุนปืนที่ได้จากศพผู้ตายใช้ยิงมาจากอาวุธปืนของกลางที่ยึดได้จากจำเลยที่ 1 ขณะทำการจับกุมจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ คำให้การดังกล่าวจึงใช้ยันจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 เมื่อรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์แล้วฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ประกอบด้วย มาตรา 84

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2533 เวลากลางวันจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนสั้นขนาด .38 หมายเลขทะเบียน รย.1/5104 ของผู้อื่นจำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 6 นัดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และระหว่างวันที่ 5 กันยายน2533 ถึงวันที่ 24 กันยายน 2533 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกันจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกได้ร่วมกันใช้ จ้าง วาน ยุยงส่งเสริมให้จำเลยที่ 1 กับพวกใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนางเบญจมาศ คงชัยผู้ตาย 1 นัด โดยเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน กระสุนปืนถูกผู้ตายบริเวณกกหูขวาถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอดและตำบลช่องกิ่งอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เกี่ยวพันกันเจ้าพนักงานยึดหัวกระสุนปืนขนาด .38 จากศพของผู้ตาย 1 หัวอาวุธปืนสั้นขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนขนาด .38 จำนวน5 นัด ปลอกกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 1 ปลอก และซองพกหนัง 1 ซองเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 91,288, 289 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสอง และวรรคสาม การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ลงโทษประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีเครื่องกระสุนปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 72 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือนส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4)ประกอบด้วย มาตรา 84 ให้ลงโทษประหารชีวิต คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษคนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(1) คงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้จำคุกตลอดชีวิต ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองจำคุก 4 เดือน รวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ริบหัวกระสุนปืน กระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง ส่วนอาวุธปืนและซองพกหนังของกลางให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้จ้างวานให้จำเลยที่ 1 ไปฆ่าผู้ตายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยหรือไม่โจทก์มีนายลิ่ม พรหมสุทธิ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านโคกทรายเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 2 เคยไปพบและขอให้ช่วยตักเตือนผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชามิให้ติดต่อกับนายสมนาช สามีจำเลยที่ 2 และโจทก์มีนายรอง เสนฤทธิ์ เป็นพยานเบิกความว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้ขอให้หาคนไปยิงผู้ตาย เพราะผู้ตายติดต่อฉันชู้สาวกับนายสมนาชสามีจำเลยที่ 2 นายรองตกลงและได้ไปติดต่อนายมวล เกาะเสือ ให้ยิงผู้ตายในราคา 12,000 บาทจำเลยที่ 2 ได้มอบเงินให้นายมวลงวดแรก 8,000 บาท แต่นายมวลไม่ยอมทำงานให้ ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้ไปพบจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ขอให้จำเลยที่ 3 หาคนไปยิงผู้ตายให้ จำเลยที่ 3 รับปากและต่อมาได้ติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ไปยิงผู้ตายในราคา 25,000 บาทซึ่งนายมวลพยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความสอดคล้องกับคำเบิกความของนายรอง เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้รู้จักจำเลยทั้งสามมาก่อน ไม่มีสาเหตุกับจำเลยทั้งสามและเบิกความสอดคล้องกันจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ นอกจากนั้นโจทก์ยังมีพันตำรวจโทหิรัญสุขปุณพันธ์ พันตำรวจตรีประเสริฐ หยงสตาร์ พนักงานสอบสวนและร้อยตำรวจโทประหยัด ฟุงสูงเนิน เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วจากการสืบสวนทราบว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนร้ายและจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลาง ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่ารับจ้างจำเลยที่ 2 ยิงผู้ตาย โดยจำเลยที่ 3 เป็นคนติดต่อ ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.12 ต่อมาจับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ จำเลยที่ 2และที่ 3 ก็ให้การรับสารภาพปรากฏตามคำให้การเอกสารหมาย จ.19 และจ.17 ได้มีการจัดส่งหัวกระสุนปืนซึ่งได้จากศพผู้ตาย ปลอกกระสุนปืนที่จำเลยที่ 1 นำยึดได้และอาวุธปืนที่ยึดได้จากจำเลยที่ 1 ขณะทำการจับกุมไปให้กองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจตรวจพิสูจน์แล้ว มีความเห็นว่าปลอกกระสุนปืนของกลางที่จำเลยที่ 1 นำยึดได้ และหัวกระสุนปืนที่ได้จากศพผู้ตายใช้ยิงมาจากอาวุธปืนของกลางที่ยึดได้จากจำเลยที่ 1ขณะทำการจับกุม ปรากฏตามความเห็นของว่าที่ร้อยตำรวจโทกีรติ แปลกบรรจง ผู้ตรวจพิสูจน์ตามเอกสารหมาย จ.10 เห็นว่าพยานโจทก์ไม่เคยมีสาเหตุกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 มาก่อนทั้งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ และต่างเบิกความสอดคล้องกับพยานโจทก์ปากอื่น จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ ซึ่งคำให้การดังกล่าวใช้ยันจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบว่า ให้การรับสารภาพเพราะพนักงานสอบสวนจะกันไว้เป็นพยานก็ดี ลงชื่อไปโดยไม่ได้อ่านข้อความก็ดี ไม่มีน้ำหนักพอฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมารับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share