คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3741/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตจำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ประสงค์ให้ศาลฎีกาพิจารณาและพิพากษาเพื่อประโยชน์แก่จำเลยแต่ขอให้ศาลฎีกาลงโทษประหารชีวิตโดยไม่ต้องลงโทษให้แก่จำเลยกรณีเป็นเรื่องที่จำเลยไม่ต้องการให้พิจารณาพิพากษาใหม่ในส่วนที่จะเป็นประโยชน์แก่จำเลยศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามโจทก์ฟ้องหรือไม่ส่วนที่จำเลยขอให้ลงโทษประหารชีวิตโดยไม่ต้องลดโทษให้แก่จำเลยนั้นเท่ากับเป็นการเพิ่มโทษจำเลยโดยที่โจทก์ไม่ได้ฎีกาในประเด็นนี้ย่อมต้องห้ามในการที่จะเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา225ประกอบด้วยมาตรา212ศาลฎีกาไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบอเมริกันเอ็ม 67 ซึ่งทางราชการทหารและตำรวจเรียกว่า ลูกระเบิดขว้างชนิดสังหาร แบบ 88 บ.67 จำนวน 1 ลูก ไว้ในครอบครอง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยนำลูกระเบิดดังกล่าวมาประกอบเป็นกับระเบิดแสวงเครื่องชนิดสังหารบรรจุไว้ในกล่องขนาดเล็กแล้วบรรจุในกล่องพัสดุไปรษณีย์ เมื่อมีผู้เปิดกล่องพัสดุไปรษณีย์ออกลูกระเบิดจะเกิดการระเบิดขึ้นและจำเลยเล็งเห็นผลอยู่แล้วว่า ถ้ากล่องพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวถูกโยนหรือตกกระแทกกับพื้นหรือถูกแรงกระแทกจากภายนอกย่อมเกิดการระเบิดขึ้นได้ และน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2536เวลากลางวัน จำเลยนำกล่องพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวฝากส่งที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขรามอินทรา เพื่อฝากส่งให้แก่นางสาวสาลินีทรงประดิษฐ์ ซึ่งเป็นผู้รับปลายทางและมีที่อยู่ในเขตบริการของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสามเสนใน ทั้งนี้โดยจำเลยมีเจตนาฆ่านางสาวสาลีนีหรือผู้ที่ทำให้กล่องพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวได้รับการกระทบกระแทก และผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับบริเวณที่เกิดการระเบิดขึ้นดังกล่าว โดยจำเลยได้ไตร่ตรองไว้ก่อนต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2536 เวลาประมาณ 6 นาฬิกาที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสามเสนในรับกล่องพัสดุไปรษณีย์ที่จำเลยฝากส่งให้แก่นางสาวสาลินีโดยนายสมควร อัสภาหุ เจ้าหน้าที่ของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสามเสนในเป็นผู้ทำการคัดแยกและลงรายการกล่องพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวในเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้วโยนกล่องพัสดุไปรษณีย์ลงกับพื้น ทำให้ลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารที่จำเลยบรรจุไว้ในกล่องพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวเกิดการระเบิดขึ้นเป็นเหตุให้สะเก็ดระเบิดและแรงระเบิดถูกนายสมควรถึงแก่ความตายนายสุวิทย์ กำเนิดบุญ นายอำนวย ทวีทรัพย์ นายปวิทย์ เพ็งออกนายวันชนม์ กิจอินทะไชยหรือกิจวินทะไชย นายพีระศักดิ์ เนตรแก้วและนายเลิศ เทือกแสง ได้รับอันตรายแก่กายสาหัส ต้องทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน และจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน กับถูกนางอมร วนัชสุนทรได้รับอันตรายแก่กายโดยจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดฐานฆ่านายสุวิทย์ นายอำนวย นายปวิทย์ นายวันชนม์ นายพีระศักดิ์ นายเลิศและนางอมร ผู้ได้รับอันตรายแก่กายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กายกับนางสาวสาลินีโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เนื่องจากแพทย์รักษาพยาบาลบุคคลผู้ได้รับอันตรายแก่กายสาหัส และได้รับอันตรายแก่กายดังกล่าวไว้ได้ทันท่วงที และกล่องพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวยังส่งไปไม่ถึงนางสาวสาลินี บุคคลผู้ได้รับอันตรายแก่กายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กายดังกล่าวกับนางสาวสาลินีจึงไม่ถึงแก่ความตายนอกจากนี้สะเก็ดระเบิดกับแรงระเบิดดังกล่าวยังทำให้พื้นและเพดานอาคารโต๊ะคัดแยกพัสดุไปรษณีย์ กระจกหน้าต่างและกระจกรับแสงอันเป็นทรัพย์สินของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสามเสนในการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้รับอันตรายแก่กายสาหัสและอันตรายแก่กาย และทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้สะเก็ดระเบิดจำนวน 165 ชิ้น เศษโลหะกระเดื่องนิรภัยจำนวน 1 ชิ้น และเศษโลหะเรือนชนวนจำนวน 4 ชิ้น ซึ่งเป็นสะเก็ดระเบิดและชิ้นส่วนประกอบของลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบอเมริกัน เอ็ม 67 ที่จำเลยมีไว้และใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลาง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมกับยึดเทปกาวชนิดต่าง ๆ 6 ม้วน มีดคัทเตอร์ 1 เล่มกาว 1 หลอด กรรไกร 1 เล่ม และแผ่นกระดาษตัดเป็นชื่อ “สาลินี”1 ชิ้น ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้และมีไว้เพื่อใช้ในการประกอบทำกับระเบิดแสวงเครื่องเพื่อกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 221, 81, 32,33, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 55, 72, 78และริบของกลาง
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ประกอบด้วยมาตรา 80, 221ประกอบด้วยมาตรา 224 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 4, 7, 55, 72, 78 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษประหารชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) อันเป็นโทษที่มีบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูกต้องประกอบด้วยมาตรา 52(1)) คงจำคุกจำเลยตลอดชีวิต ริบของกลาง
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่งและเป็นความผิดต่างกระทงกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญานอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยไม่ประสงค์ให้ศาลฎีกาพิจารณาและพิพากษาเพื่อประโยชน์แก่จำเลย แต่ขอให้ศาลฎีกาลงโทษประหารชีวิตโดยไม่ต้องลดโทษให้แก่จำเลย เห็นว่าเมื่อจำเลยไม่ต้องการให้พิจารณาพิพากษาใหม่ในส่วนที่เป็นประโยชน์แก่จำเลย ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามโจทก์ฟ้องหรือไม่ ส่วนที่จำเลยขอให้ลงโทษประหารชีวิตโดยไม่ต้องลดโทษให้แก่จำเลยนั้น เท่ากับเป็นการเพิ่มโทษจำเลย โดยที่โจทก์ไม่ได้ฎีกาในประเด็นนี้ ย่อมต้องห้ามในการที่จะเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 212 ศาลฎีกาไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share