แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำบังคับเป็นหน้าที่ของศาล เมื่อศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างใดซึ่งจะต้องมีการบังคับคดี ศาลต้องมีคำบังคับ ถ้าศาลมิได้มีคำบังคับไว้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ขอให้ศาลมีคำบังคับได้
ศาลได้พิพากษาตามยอมและมีคำสั่งท้ายคำพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมไม่ปฏิบัติตามจะถูกยึดทรัพย์ จำขัง ฯลฯ นั้น ถือว่าได้มีคำบังคับไว้แล้ว ศาลจึงไม่ออกคำบังคับซ้ำให้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาขายที่ดินให้โจทก์เป็นเงิน ๑๐,๕๐๐ บาท และได้รับเงินล่วงหน้าไป ๖,๕๐๐ บาท ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมทำการโอนให้เพราะโจทก์เป็นภรรยาคนต่างด้าว โจทก์จำเลยจึงตกลงเลิกสัญญา จำเลยรับรองจะคืนเงิน ๖,๕๐๐ บาทให้ แต่ไม่คืนขอให้บังคับ
จำเลยให้การปฏิเสธ
โจทก์จำเลยทำสัญญประนีประนอมยอมความกัน และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญายอม ขอให้ศาลมีคำบังคับ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยได้ดำเนินการตามสัญญายอมแล้ว จึงไม่บังคับให้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยชำระเงิน ๖,๕๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คำบังคับเป็นหน้าที่ของศาล คือ เมื่อศาลได้พิพากษาหรือมีคำพิพากษาก็ขอให้ศาลมีคำบังคับได้ สำหรับคดีนี้ โจทก์น่าจะเข้าใจว่า ในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ศาลยังมิได้มีคำบังคับจำเลย โจทก์จึงแถลงขอ โดยใช้ถ้อยคำว่า ขอศาลได้โปรดมีคำบังคับ ถ้าโจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลบังคับคดี โจทก์คงจะร้องขอมาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗๑ เหตุนี้ จึงฟังว่าคำแถลงของโจทก์นั้น โจทก์ขอให้ศาลมีคำบังคับ ไม่ใช่ขอให้ศาลบังคับคดี
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์ขอให้มีคำบังคับได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่จำต้องขออีกเพราะคำพิพากษาตามยอมได้มีคำบังคับไว้แล้ว ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่บังคับให้ จึงเป็นการถูกในผลที่จะไม่บังคับซ้ำอีก ฏีกาของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้บังคับตามผลศาลชั้นต้นที่ไม่สั่งให้มีคำบังคับ