คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 184/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างว่าเรือนพิพาทเป็นของโจทก์, จำเลยเป็นผู้อาศัย จำเลยเถียงว่าเรือนเป็นของจำเลย โจทก์เป็นผู้อาศัย ประเด็นจึงมีว่าเรือนเป็นของใคร โจทก์ย่อมนำสืบว่าเรือนเป็นของโจทก์เพราะครอบครองมาเกิน 10 ปีแล้วได้ โจทก์ไม่จำต้องบรรยาย ข้อเท็จจริงในฟ้องถึงการได้มาซึ่งเรือนพิพาท ก็ย่อมนำสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีกรรมสิทธิได้ หากจำเลยเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ยังไม่ชัดแจ้ง จำเลยก็ชอบที่จะขอร้องต่อศาลในชั้นชี้สองสถานและให้ศาลสอบถามโจทก์ให้ได้ความชัดขึ้นตาม ป.ม.วิ.แพ่ง มาตรา 183
โจทก์ได้ซื้อเรือนพิพาทจากบิดามารดาจำเลยและโจทก์ได้ครอบครองมานานกว่า 10 ปีแล้ว แม้การซื้อขายจะขัดกับ ป.ม.แพ่งฯ มาตรา 456 และ 1299 หรือไม่ก็ตาม แต่โจทก์ได้กรรมสิทธิตาม ป.ม.แพ่งฯ มาตรา 1382 แล้ว
ข้อนำสืบของโจทก์จะหักล้างข้อสันนิษฐานซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้แสดงว่า เรือนพิพาทเป็นของโจทก์และห้ามจำเลยซึ่งเป็นผู้อาศัยเข้าเกี่ยวข้อง จำเลยต่อสู้ว่าเรือนเป็นของจำเลย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังต้องกันว่าเรือนพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามไม่ให้จำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยฎีกา,
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
(๑) คดีนี้ โจทก์ฟ้องอ้างว่าเรือนพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยเป็นผู้อาศัย จำเลยเถียงว่าเรือนเป็นของตน ประเด็นจึงมีว่าเรือนเป็นของใคร และศาลล่างฟังข้อเท็จจริงว่า แม้เดิมเรือนหลังนี้เป็นของบิดามารดาจำเลย ๆ ขายให้แก่โจทก์ แม้การขายจะไม่ได้ทำให้ถูกต้อง โจทก์ก็ครอบครองมานานกว่า ๑๐ ปี จึงฟังได้ว่าเรือนเวลานี้เป็นของโจทก์ แม้ข้อเท็จจริงเหล่านี้โจทก์ไม่ได้บรรยายในคำฟ้องก็ดี เพราะข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นถ้อยคำพะยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำฟ้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ โจทก์ไม่จำต้องบรรยายไว้ในคำฟ้อง หากจำเลยเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ยังไม่ชัดแจ้ง จำเลยชอบที่จะร้องขอต่อศาลในชั้นชี้สองสถาน และให้ศาลสอบถามโจทก์ให้ได้ความชัดขึ้นตามมาตรา ๑๘๓ ป.ม.วิ.แพ่ง
(๒) ข้อนำสืบของโจทก์ที่ว่า ได้ซื้อที่จากมารดาจำเลยนั้นการซื้อขายรายนี้ขัดต่อ ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๔๕๖ และมาตรา ๑๒๕๙ หรือไม่ก็ตาม ไม่สำคัญ เพราะโจทก์ไม่ใช่ว่าได้กรรมสิทธิ โดยบทกฎหมายทั้งสองนี้ แต่ได้โดยอาศัย ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๑๓๘๒ ต่างหาก ส่วนที่จำเลยว่า ข้อนำสืบของโจทก์ไม่เพียงพอจะหักล้างข้อสันนิษฐานอันเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้วนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามมาตรา ๒๔๘ ป.ม.วิ.แพ่ง
พิพากษายืน.

Share