แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 5บัญญัติให้ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแจ้งการครอบครองไว้ เพื่อที่รัฐจะทราบว่าผู้ใดมีสิทธิครอบครองในที่นั้นๆ ไม่ใช่ว่าถ้าไม่แจ้งการครอบครองแล้ว ผู้ครอบครองที่ดินจะเสียไปซึ่งสิทธิการครอบครองที่มีอยู่ก่อนนั้นไม่
ย่อยาว
คดีทั้ง 8 สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 8 สำนวนเป็นใจความอย่างเดียวกันว่าจำเลยทั้งหมดบุกรุกเข้าครอบครองทำประโยชน์และอ้างสิทธิในที่ดินของรัฐซึ่งเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน คือเป็นที่ชายตลิ่งและท้องน้ำริมแม่ปิง โดยทางราชการได้ถมท้องน้ำและชายตลิ่งจนเป็นที่ดินขึ้น อันเป็นที่ว่างเปล่าซึ่งบุคคลใดไม่อาจถือสิทธิหรือใช้สิทธิครอบครองได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน เสียหายแก่ทางราชการและประชาชน จำเลยไม่มีสิทธิครอบครอง และมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งไม่มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการเหมืองแร่และการป่าไม้ในที่ดินของรัฐ การกระทำของจำเลยทำให้เกิดการเสียหายทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ นายอำเภอเมืองตากพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดูแลทรัพย์สินนี้ได้สั่งให้จำเลยแต่ละคนรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่สาธารณะที่จำเลยบุกรุกเข้าครอบครองและทำให้เสียหายนั้นให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน จำเลยแต่ละสำนวนทราบคำสั่งนี้แล้วบังอาจจงใจฝ่าฝืนมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งที่สั่งการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 368 และขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่สาธารณะดังกล่าวพร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ออกไปภายใน 30 วัน โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น
จำเลยทุกสำนวนต่างให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยในสำนวนคดีนางโกยจำเลย นางเสงี่ยมจำเลย นายมีจำเลย นางบุญมี จำเลย นางสวาทจำเลย และนางเขียวจำเลยรวม 6 คน มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 368 แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 ปรับจำเลยคนละ 1,000 บาทให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินที่รุกล้ำภายใน 30 วัน โดยให้เสียค่าใช้จ่ายเอง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยในคดีนางบุญช่วยจำเลย และนางสุ่มจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษนางบุญช่วยจำเลยและนางสุ่มจำเลยทั้งสองสำนวนตามฟ้อง
นางโกยจำเลย นางเสงี่ยมจำเลย นายมีจำเลย นางบุญมีจำเลยนางสวาทจำเลยและนางเขียวจำเลย รวม 6 สำนวน ต่างอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนที่จำเลยทั้ง 6 คนอุทธรณ์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 8 สำนวน
คดีสำนวนนางบุญช่วยจำเลยและนางสุ่มจำเลยสองสำนวนนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์โจทก์ฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า ที่พิพาทที่จำเลยทั้งสองครอบครองอยู่นั้น จำเลยทั้งสองมีหนังสือซื้อขายกันมาและได้ไปแจ้งการครอบครอง แต่ทางการยังมิได้ออกแบบ ส.ค.1 ให้ต่างได้ครอบครองมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับและก่อนมีการถมทราย ไม่ใช่เป็นที่ชายตลิ่งริมแม่น้ำปิงที่ทางราชการได้ถมทรายขึ้นอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ฎีกาว่าเมื่อกฎหมายกำหนดเวลาให้จำเลยแจ้งการครอบครองที่ดินแล้ว เมื่อไม่แจ้งภายในกำหนดเวลาถือว่าสละสิทธิการครอบครองนั้น เห็นว่าที่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 5 บัญญัติให้ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแจ้งการครอบครองไว้นั้น ก็เพื่อที่รัฐจะทราบว่าผู้ใดมีสิทธิครอบครองในที่นั้น ๆ ไม่ใช่ว่าถ้าไม่แจ้งการครอบครองแล้ว ผู้ครอบครองที่ดินนั้นจะเสียไปซึ่งสิทธิการครอบครองที่มีอยู่ก่อนนั้น จำเลยได้แจ้งการครอบครองแล้ว แต่ทางการยังไม่มอบแบบแห่งการแจ้งให้ จำเลยได้ครอบครองที่ดินอยู่ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เจตนาสละสิทธิการครอบครองดังโจทก์ฎีกา
ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อจำเลยเข้ายึดที่ดินถมทรายขึ้นใหม่ไม่แจ้งการครอบครองนายอำเภอท้องที่ผู้ดูแลมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ครอบครองออกไปจากที่ดินไปได้นั้น เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ข้อนี้เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยทั้งสองนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนคดีอีก 6 สำนวนนั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินที่จำเลยทุกคนครอบครองอยู่ มิใช่ที่ชายตลิ่งอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยทุกคนต่างได้เข้าครอบครองอยู่โดยการโอนการครอบครองสืบต่อกันมา และมีสิทธิครอบครองอยู่ก่อนพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ใช้บังคับการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 และมาตรา 108 และไม่เป็นความผิดตามมาตรา 360 และมาตรา 368 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน