คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10271/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปรากฏตามสัญญาการโอนกิจการว่า โดยที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ในกิจการของจำเลยทั้งสอง มีนโยบายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสะดวกต่อการกำกับดูแลรวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยการลดหรือใช้ต้นทุนร่วมกัน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจึงเห็นควรให้มีการโอนกิจการจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2 รับโอนสินทรัพย์ทุกชนิด หนี้สินและภาระผูกพันทั้งหมด ยกเว้นลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมทั้งรับพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่สมัครใจทำงานกับจำเลยที่ 2 ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้ในโครงการโอนกิจการที่เสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย และปรากฏตามโครงการโอนกิจการที่จำเลยที่ 1 จัดทำเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติและนำเสนอธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อทราบว่า จำเลยที่ 2 จะรับโอนพนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาณ 200 คน ตามความสมัครใจ ซึ่งผู้บริหารของจำเลยทั้งสองจะได้พิจารณาร่วมกันต่อไป ดังนั้น การโอนกิจการดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ในกิจการของจำเลยทั้งสองให้การบริหารหนี้ด้อยคุณภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้นโดยมีข้อตกลงรับโอนพนักงานของจำเลยที่ 1 ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 ด้วย การที่จำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งแก่โจทก์ทั้งห้าว่าไม่มีตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับโจทก์ทั้งห้าและไม่สามารถรับโจทก์ทั้งห้าเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 ได้ และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้า จึงเป็นการเลิกจ้างโดยจำเลยที่ 1 ผู้โอนกิจการและจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนกิจการมิได้ประสบภาวะความจำเป็นหรือขาดทุนจนถึงกับต้องเลิกจ้างพนักงาน ทั้งมิใช่เกิดจากการกระทำความผิดของโจทก์ทั้งห้าจนถึงกับต้องถูกเลิกจ้าง ส่วนการจัดหาตำแหน่งงานให้โจทก์ทั้งห้าก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องพิจารณาร่วมกันให้โจทก์ทั้งห้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่เหมาะสมต่อไป เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าจึงเป็นการเลิกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรและเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งห้าสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ตามลำดับ และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งห้าสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับโจทก์ทั้งห้าเข้าทำงานโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2547 ในตำแหน่งและหน้าที่เดิม ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายฐานเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 3,800,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 5,780,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 7,388,000 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 6,119,880 บาท และโจทก์ที่ 5 จำนวน 3,316,310 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ที่ 4 จำนวน 80,645 บาท และโจทก์ที่ 5 จำนวน 44,354 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และค่าจ้างในการปรับเงินเดือนขึ้นให้โจทก์ที่ 4 จำนวน 25,200 บาท และโจทก์ที่ 5 จำนวน 13,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองทั้งห้าสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 จำนวนคนละ 36,666.66 บาท ให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 27,333.33 บาท และให้โจทก์ที่ 4 จำนวน 66,666.66 บาท และค่าเสียหายในการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 จำนวนคนละ 110,000 บาท ให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 82,000 บาท และให้โจทก์ที่ 4 จำนวน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า คำขอนอกนั้นให้ยก
โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสองทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่อาจสรรหาตำแหน่งที่เหมาะสมกับโจทก์ทั้งห้าได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรแล้วนั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏตามสัญญาการโอนกิจการส่วนแรกว่า โดยที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัตนาระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ในกิจการของจำเลยทั้งสอง มีนโยบายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัตนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสะดวกต่อการกำกับดูแลรวมทั้งการประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยการลดหรือใช้ต้นทุนร่วมกัน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัตนาระบบสถาบันการเงินจึงเห็นควรให้มีการโอนกิจการจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2 รับโอนสินทรัพย์ทุกชนิด หนี้สินและภาระผูกพันทั้งหมด ยกเว้นลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งรับพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่สมัครใจทำงานกับจำเลยที่ 2 สัญญาข้อ 1 ระบุให้จำเลยที่ 1 ตกลงโอนสินทรัพย์ทุกชนิด หนี้สินและภาระผูกพันทั้งหมดให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ตกลงรับโอนสินทรัพย์ทุกชนิด หนี้สินและภาระผูกพันทั้งหมดจากจำเลยที่ 1 สัญญาข้อ 4 ระบุให้จำเลยที่ 2 ตกลงรับพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่สมัครใจทำงานกับจำเลยที่ 2 ภายใต้เงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในโครงการโอนกิจการจำเลยที่ 1 ไปรวมกับจำเลยที่ 2 ที่เสนอธนาคารแห่งประเทศไทย และปรากฏตามโครงการโอนกิจการบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ไปรวมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ที่จำเลยที่ 1 จัดทำเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติและนำเสนอธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อทราบ ข้อ 3.1.5 ระบุว่า จำเลยที่ 2 จะรับโอนพนักงานของจำเลยที่ 1 จำนวนประมาณ 200 คน ตามความสมัครใจ ซึ่งผู้บริหารของจำเลยทั้งสองจะได้พิจารณาร่วมกันต่อไป ดังนั้น การโอนกิจการดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ในกิจการของจำเลยทั้งสองให้การบริหารหนี้ด้อยคุณภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้นโดยมีข้อตกลงรับโอนพนักงานของจำเลยที่ 1 ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 ด้วย การที่จำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งแก่โจทก์ทั้งห้าว่าไม่มีตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับโจทก์ทั้งห้าและไม่สามารถรับโจทก์ทั้งห้าเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 ได้และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2547 จึงเป็นการเลิกจ้างโดยจำเลยที่ 1 ผู้โอนกิจการและจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนกิจการมิได้ประสบภาวะความจำเป็นหรือขาดทุนจนถึงกับต้องเลิกจ้างพนักงาน ทั้งมิใช่เกิดจากการกระทำความผิดใดของโจทก์ทั้งห้าจนถึงกับต้องถูกเลิกจ้าง ส่วนการจัดตำแหน่งงานให้โจทก์ทั้งห้าก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องพิจารณาร่วมกันให้โจทก์ทั้งห้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่เหมาะสมต่อไป เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าจึงเป็นการเลิกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรและเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อไปว่า เมื่อจำเลยที่ 1 แจ้งการเลิกจ้างให้โจทก์ทั้งห้าทราบ โจทก์ทั้งห้ายอมรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยโดยไม่โต้แย้งเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งห้ายินยอมพร้อมใจตกลงสิ้นสุดสัญญาจ้าง มิใช่การเลิกจ้างโดยนายจ้างฝ่ายเดียวนั้น เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยที่ 2 มีหนังสือยืนยันการไม่รับโจทก์ทั้งห้าเข้าทำงาน จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้า เมื่อจำเลยทั้งสองอุทธรณ์เพื่อให้เห็นว่าการที่โจทก์ทั้งห้าไม่ได้ทำงานเป็นการพร้อมใจตกลงสิ้นสุดสัญญาจ้าง จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับอุทธรณ์ประการแรกของโจทก์ทั้งห้าที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับโอนโจทก์ทั้งห้ากลับเข้าทำงาน ซึ่งโจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ว่ามีสิทธิได้รับโอนตามสัญญาการโอนกิจการนั้น เห็นว่า ตามข้อสัญญาระบุให้จำเลยที่ 2 ตกลงรับพนักงานของจำเลยที่ 1 เข้าทำงานกับจำเลยที่ 2 ดังนั้น ในเวลาที่รับโอนกิจการของจำเลยที่ 1 บุคคลที่จะได้รับโอนจึงต้องมีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามสัญญาโอนกิจการข้อ 9 ระบุให้สัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นไป ในวันดังกล่าวโจทก์ทั้งห้าจะต้องมีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จึงจะได้รับการโอนเข้าทำงานกับจำเลยที่ 2 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 แจ้งการเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยให้มีผลวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 โจทก์ทั้งห้าจึงมิใช่พนักงานของจำเลยที่ 1 ในขณะที่สัญญาการโอนกิจการมีผลใช้บังคับ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าโจทก์ทั้งห้าได้แสดงความสมัครใจทำงานกับจำเลยที่ 2 แล้วก็ตาม แต่ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 อันเป็นวันโอนกิจการโจทก์ทั้งห้าไม่ได้เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาการโอนกิจการจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ประการสุดท้ายโดยขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในเงินค้างชำระเนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้าง ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับโอนกิจการนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยทั้งสองมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นอยู่ร้อยละ 99.99 โดยโจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และต่อมาจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยที่จำเลยที่ 1 มิได้ประสบภาวะความจำเป็นหรือขาดทุนจนถึงกับต้องเลิกจ้างพนักงาน และมิใช่เกิดจากการกระทำความผิดใดของโจทก์ทั้งห้า จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งห้าในฐานะนายจ้าง ส่วนจำเลยที่ 2 รับโอนสินทรัพย์ทุกชนิด หนี้สินและภาระผูกพันทั้งหมดจากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2547 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งห้าโดยผลแห่งสัญญาการโอนกิจการ ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในเงินค้างชำระต่อโจทก์ทั้งห้า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพียงจำเลยที่ 2 ที่ต้องรับผิดจ่ายเงินค้างชำระแก่โจทก์ทั้งห้าโดยให้ยกฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งห้าฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในเงินค้างชำระแก่โจทก์ทั้งห้าด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share