คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7579/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเป็นสมาชิกในองค์กรใด ผู้นั้นต้องมีสิทธิและมีส่วนร่วมเป็นผู้หนึ่งในองค์กรนั้น ส่วนการเป็นเครือข่ายในองค์กรใดผู้นั้นต้องมีความสัมพันธ์กับองค์กรและในลักษณะประสานกันเป็นโยงใยมีความเห็นใกล้เคียงกันและมีการติดต่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน ส่วนการสมคบกันผู้นั้นต้องร่วมกันคบคิดเตรียมการและวางแผนกันมาก่อน การที่จำเลยทั้งสองรับขนชาวโรฮินจาในลักษณะเป็นการรับจ้างทำงานให้เท่านั้น ไม่อยู่ในความหมายของคำว่าสมาชิกหรือเครือข่ายหรือสมคบกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
การบังคับใช้แรงงานหรือบริการต้องมีการกระทำในลักษณะเป็นการบีบบังคับผู้เสียหายโดยมิชอบ แต่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 เดินทางจากรัฐยะไข่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มาประเทศไทยเพื่อไปประเทศมาเลเซีย ซึ่งแม้จะฟังว่าประสงค์จะไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย แต่ก็เดินทางมาด้วยความสมัครใจไม่ได้ถูกบีบบังคับ จึงมิใช่เป็นการบังคับใช้แรงงานหรือบริการอันจะถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 วรรคสอง และวรรคสาม

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกจำเลยทั้งสองในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8, 83, 91, 310, 312, 312 ทวิ, 312 ตรี, 319, 320 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63, 64 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26, 78 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 7, 9, 10, 11, 52 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 3, 5, 6, 25
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขคำให้การเป็นรับสารภาพในข้อหาร่วมกันรับ ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ แก่คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายเพื่อให้พ้นจากการจับกุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี ข้อหาอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า ขณะเกิดเหตุ นางสาวคอนิส ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 18 ปี นางสาวเฟรุสเบกอม ผู้เสียหายที่ 2 อายุ 19 ปี นางสาวยัสมิน ผู้เสียหายที่ 3 อายุ 16 ปี เป็นบุตรของนางฮาเซน๊ะ ผู้เสียหายที่ 5 และนางสาวเซนูฮาราบีบี ผู้เสียหายที่ 4 อายุ 15 ปี โดยผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นชาวโรฮินจา เชื้อชาติและสัญชาติเมียนมา มีภูมิลำเนาอยู่ที่รัฐยะไข่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกประมาณ 300 คน ซึ่งเป็นชาวโรฮินจาเดินทางโดยเรือลำใหญ่จากรัฐยะไข่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มาขึ้นฝั่งที่เกาะหญ้าคา อำเภอละงู จังหวัดสตูล พักอยู่ 2 คืน ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกเดินทางโดยเรือไปยังบ้านบ่อเจ็ดลูก อำเภอละงู จังหวัดสตูล แล้วพากันเดินไปนั่งรถกระบะ ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกรวม 29 คน เป็นกลุ่มสุดท้าย นั่งรถกระบะหมายเลขทะเบียน ถช 7352 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ และรถกระบะดัดแปลงแบบห้องเย็นหลังคาสูง หมายเลขทะเบียน บจ 2454 สตูล ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับ ระหว่างทางเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 และผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวก พร้อมยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และรถกระบะทั้งสองคันเป็นของกลาง ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้พร้อมยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นของกลาง สำหรับคดีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันรับ ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ แก่คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายเพื่อให้พ้นการจับกุม ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยคู่ความไม่อุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานอื่นนอกจากฐานที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษไปแล้วหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและฐานร่วมกันพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ เสียก่อน โจทก์มีพันตำรวจเอกเสกสันต์ ผู้กำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสตูล เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อปลายปี 2557 พยานทราบจากชาวบ้านว่ามีขบวนการขนชาวโรฮินจาจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเข้ามาในราชอาณาจักร จึงรายงานผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้พยานรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจน พยานและผู้ใต้บังคับบัญชาร่วมกันสืบสวนจากข้อมูลของชาวบ้าน สามารถรวบรวมข้อมูลผู้กระทำความผิดในลักษณะเครือข่ายได้ เป็นเครือข่ายชนชาวโรฮินจาในพื้นที่จังหวัดสตูล มีนายปัจจุบัน เป็นหัวหน้า นายอาบู หรือ สจ.บู เป็นผู้ดำเนินการขนชาวโรฮินจา และยังมีนายวุฒิ ซึ่งมีนายสถิต เป็นลูกน้องทำหน้าที่หาคนไปรับขนชาวโรฮินจาไปประเทศมาเลเซีย โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับขนชาวโรฮินจา และโจทก์ยังมีคำให้การในชั้นสอบสวนของนายอาบูมานำสืบสนับสนุน โดยนายอาบูให้การว่านายอาบูเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์โรฮินจา โดยได้รับการติดต่อจากนายปัจจุบัน ซึ่งภายหลังตกลงวางแผนแล้ว ได้ร่วมในการขนย้ายคนต่างด้าวประมาณ 20 ครั้ง รวมคนต่างด้าวที่นายอาบูและทีมงานขนย้ายประมาณ 5,000 คน แต่คนต่างด้าวในคดีนี้นายอาบูได้สอบถามจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว ทราบว่าเป็นของนายวุฒิ ไม่ใช่ของนายปัจจุบัน เห็นว่า การกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตามคำฟ้องของโจทก์มีองค์ประกอบของความผิด คือ เป็นสมาชิกหรือเป็นเครือข่ายดำเนินงานขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หรือร่วมกันสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5 (1) และ (2) คดีนี้แม้คำให้การในชั้นสอบสวนของนายอาบูจะสอดรับกับคำเบิกความของพันตำรวจเอกเสกสันต์ว่าในพื้นที่จังหวัดสตูลมีขบวนการขนชาวโรฮินจา โดยมีนายปัจจุบันเป็นหัวหน้า นายอาบูเป็นผู้ดำเนินการขนชาวโรฮินจา และยังมีนายวุฒิซึ่งมีนายสถิตเป็นลูกน้องที่ทำหน้าที่หาคนไปรับขนชาวโรฮินจาก็ตาม แต่พันตำรวจเอกเสกสันต์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสมาชิกหรือเครือข่ายดำเนินงานของขบวนการขนชาวโรฮินจา หรือสมคบกันเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับขบวนการขนชาวโรฮินจา คำเบิกความของพันตำรวจเอกเสกสันต์ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับขนชาวโรฮินจา ซึ่งสอดรับกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่านายสถิตว่าจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ขับรถขนชาวเมียนมา เชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับจ้างขับรถขนผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกโดยรู้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกเป็นคนต่างด้าว ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้นิยามความหมายของคำว่า สมาชิก หมายถึง ผู้มีสิทธิและมีส่วนร่วมในสมาคม องค์การ หรือกิจกรรมใด ๆ คำว่า เครือข่าย หมายถึง ระบบ เส้นทาง หรือการปฏิบัติงานที่ติดต่อประสานกันเป็นโยงใย กลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่มีความเห็นใกล้เคียงกัน มีการติดต่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน และคำว่า สมคบ หมายถึง ร่วมคบคิดกัน ดังนี้ การเป็นสมาชิกในองค์กรใด ผู้นั้นต้องมีสิทธิและมีส่วนร่วมเป็นผู้หนึ่งในองค์กรนั้น ส่วนการเป็นเครือข่ายในองค์กรใด ผู้นั้นต้องมีความสัมพันธ์กับองค์กรนั้นในลักษณะประสานกันเป็นโยงใย มีความเห็นใกล้เคียงกัน และมีการติดต่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน ส่วนการสมคบกัน ผู้นั้นต้องร่วมกันคบคิดตระเตรียมการและวางแผนกันมาก่อน จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับขนชาวโรฮินจาในลักษณะเป็นการรับจ้างทำงานให้เท่านั้น ไม่อยู่ในความหมายของคำว่าสมาชิกหรือเครือข่าย หรือสมคบกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้เป็นสมาชิกหรือเครือข่าย หรือสมคบกับขบวนการขนชาวโรฮินจาเข้ามาในประเทศไทย และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบยืนยันว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้พาผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกเข้ามาในประเทศไทย ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและร่วมกันพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานอื่นนอกจากฐานดังกล่าวหรือไม่ โจทก์มีนายมามัธรอบีชหรือมามัชรอบีช นางสาวอูมูอาเร็ส ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 และพันตำรวจโทมงคล พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้สอบคำให้การผู้เสียหายที่ 2 ในชั้นสอบสวน เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ขณะผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 อยู่ที่รัฐยะไข่ นายหน้าได้ชักชวนผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 4 ให้ไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเนื่องจากนายหน้าจะได้ค่าใช้จ่ายจากคนที่อยู่ที่ประเทศมาเลเซีย แต่ไม่ได้บอกผู้เสียหายที่ 2 ว่าเป็นงานอะไร ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และมีเงินเดือนเท่าใด ผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงเนื่องจากในรัฐยะไข่เกิดปัญหาสู้รบระหว่างชาวโรฮินจากับชาวพุทธ นายหน้าพาผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 4 ลงเรือลำเล็กไปขึ้นเรือลำใหญ่ ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ถูกชายชาวพม่าบังคับให้ลงเรือเพื่อไปประเทศมาเลเซีย โดยถูกขู่ว่าหากหลบหนีจะถูกฆ่า ในเรือลำใหญ่มีชาวโรฮินจาประมาณ 300 คน มีทั้งถูกจับตัวมาและเต็มใจมา มีชายคนไทยเป็นผู้ควบคุม 4 คน หากจะเข้าห้องน้ำต้องขออนุญาต ได้รับประทานอาหารวันละ 2 มื้อ แต่ละมื้อเป็นข้าวกับพริกแห้ง 1 เม็ด เดินทางไปขึ้นฝั่งที่เกาะทุ่งหญ้าคา ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกเข้าใจว่าเป็นเกาะ ผู้หญิงพักในขนำหรือเพิงพัก ผู้ชายพักในป่าใกล้ขนำ มีผู้ควบคุม 1 คน และมีคนนำข้าวมาให้วันละ 2 รอบ พักอยู่ 2 วัน เดินทางต่อโดยเรือลำเล็กไปขึ้นฝั่งที่บ้านบ่อเจ็ดลูก มีชายไทยรอรับ 1 คน พาเดินไปขึ้นรถ มีรถกระบะ 4 คัน และผู้ชาย 5 คน ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกรวม 29 คน ขึ้นรถเป็นกลุ่มสุดท้าย นายมามัชรอบีชกับพวกนั่งรถกระบะคันที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกนั่งรถกระบะคันที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับ เป็นรถกระบะมีหลังคาต่อเติมแบบทึบมองไม่เห็นด้านนอก ไม่สามารถเปิดประตูจากด้านในได้ ต้องนั่งอย่างแออัดและหายใจไม่ค่อยออก เดินทางไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมง เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 และผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวก เห็นว่า แม้ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่าถูกบังคับจับลงเรือจากรัฐยะไข่เพื่อเดินทางไปประเทศมาเลเซีย แต่ขณะนั้นเกิดปัญหาสู้รบระหว่างชาวโรฮินจากับชาวพุทธในรัฐยะไข่ โดยได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งร่วมเดินทางมากับผู้เสียหายที่ 1 ว่าผู้เสียหายที่ 3 ตกลงทำงานที่ประเทศมาเลเซียเนื่องจากไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่อแสดงว่าชาวโรฮินจาเดินทางออกจากรัฐยะไข่เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินซึ่งมีสาเหตุมาจากการสู้รบระหว่างชาวโรฮินจากับชาวพุทธ ผู้เสียหายที่ 1 ยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายผู้ต้องหาที่ 1 ว่าหากต้องถูกส่งตัวออกนอกประเทศไทย จะเลือกกลับไปรัฐยะไข่ หรือไปประเทศที่สาม พยานตอบว่าจะไปหาสามีที่ประเทศมาเลเซีย ดังนี้ หากผู้เสียหายที่ 1 ถูกบังคับให้เดินทางออกจากรัฐยะไข่ เหตุใดผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่ยินยอมถูกส่งตัวกลับไปที่รัฐยะไข่ อีกทั้งผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกซึ่งเป็นชาวโรฮินจามีประมาณ 300 คน ผู้ควบคุมบนเรือมีเพียง 2 คน ผู้ควบคุมที่เกาะทุ่งหญ้าคามี 1 คน โดยเฉพาะที่เกาะทุ่งหญ้าคาผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกไม่ได้ถูกคุมขังหรือกักขัง เกาะทุ่งหญ้าคาไม่ใช่เกาะแต่เป็นแผ่นดินใหญ่ ผู้ควบคุมก็ไม่มีอาวุธ โดยสภาพแล้วไม่สมเหตุผลที่ผู้เสียหายที่ 1 จะถูกบังคับให้เดินทางไปประเทศมาเลเซียโดยผ่านประเทศไทย ส่วนที่ผู้เสียหายที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนว่าขณะอยู่บนเรือผู้เสียหายที่ 2 ขอกลับบ้าน แต่ผู้ควบคุมเรือไม่ให้กลับ นั้น เห็นว่า น่าจะเป็นความคิดของผู้เสียหายที่ 2 เพียงชั่วขณะหนึ่งซึ่งเกิดจากความยากลำบากในระหว่างเดินทางดังที่พันตำรวจโทมงคลเบิกความตอบคำถามติงของโจทก์ ประกอบกับชาวโรฮินจาในเรือมีประมาณ 300 คน เป็นการยากที่เรือจะกลับไปส่งผู้เสียหายที่ 2 ที่รัฐยะไข่เพียงคนเดียว พฤติการณ์สอดรับกันฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 เดินทางออกจากรัฐยะไข่ผ่านประเทศไทยเพื่อไปประเทศมาเลเซียด้วยความสมัครใจ มิได้เกิดจากการข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด สำหรับผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 อายุ 16 ปี และ 15 ปี ตามลำดับ ถือว่าเป็นเด็กตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 การกระทำความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ต้องกระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งมาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติว่า การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาสหรือให้มีฐานะคล้ายทาส การนำคนมาขอทาน การตัดอวัยวะเพื่อการค้า การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และมาตรา 6 วรรคสาม บัญญัติว่า การบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามวรรคสอง หมายความว่า การข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่น (2) ขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ (3) ใช้กำลังประทุษร้าย (4) ยึดเอกสารสำคัญประจำตัวของบุคคลนั้นไว้ หรือนำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่นมาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ (5) ทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เห็นได้ว่าการบังคับใช้แรงงานหรือบริการต้องมีการกระทำในลักษณะเป็นการบีบบังคับผู้เสียหายโดยมิชอบ แต่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 เดินทางจากรัฐยะไข่มาประเทศไทยเพื่อไปประเทศมาเลเซียซึ่งแม้จะฟังว่าประสงค์จะไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย แต่ก็เดินทางมาด้วยความสมัครใจยินยอม ไม่ได้ถูกบีบบังคับ จึงมิใช่เป็นการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ อันจะถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ พยานหลักฐานโจทก์ก็รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกกระทำโดยประสงค์จะเอาผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ลงเป็นทาสหรือให้มีฐานะคล้ายทาส การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ ฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น ฐานเพื่อจะเอาคนลงเป็นทาสหรือให้มีฐานะคล้ายทาส ร่วมกันนำเข้าในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร และฐานร่วมกันใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด พาหรือส่งคนออกไปนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6, 7, 9, 52 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310, 312, 312 ทวิ, 320 ส่วนผู้เสียหายที่ 1 อายุ 18 ปี ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 อายุ 16 ปี และ 15 ปี ตามลำดับ ถือว่าผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เป็นเด็กตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และผู้เสียหายที่ 3 ต้องพลัดพรากจากผู้เสียหายที่ 5 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียหายที่ 3 ไปนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกเพียงแต่ขนผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เพื่อไปประเทศมาเลเซีย โดยประสงค์จะได้ค่าตอบแทนการจากการขน มิได้เพื่อแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้หรือโดยมิชอบจากตัวผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 โดยตรง หรือพรากผู้เสียหายที่ 3 เพื่อหากำไรจากผู้เสียหายที่ 3 โดยตรง แม้ระหว่างเดินทางผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเด็กดำรงชีพด้วยความลำบาก เช่น รับประทานอาหารวันละ 2 มื้อ ก็มิใช่เป็นการกระทำทารุณ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก กระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26, 78 ฐานโดยทุจริตรับไว้ซึ่งบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม และรับไว้ซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ตรี และฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเพื่อหากำไร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทมงคล พนักงานสอบสวนผู้สอบปากคำจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่าในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมในการขนชาวโรฮินจา โดยร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มารับผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกด้วย เห็นว่า คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การครั้งแรกโดยไม่ได้กล่าวถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่เพิ่งให้การซัดทอดจำเลยที่ 3 และที่ 4 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 ภายหลังเกิดเหตุ 1 เดือนเศษ มีโอกาสที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะปรุงแต่งข้อเท็จจริงได้ ส่วนที่นายมามัธรอบีชหรือมามัชรอบีชซึ่งเป็นชาวโรฮินจาได้ให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกรวม 5 คน มารับนายมามัธรอบีชกับพวก นั้น เป็นพฤติการณ์ที่ยังห่างไกลต่อเหตุผลที่จะบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มากับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนอีก คำซัดทอดดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ให้การปฏิเสธตลอดมา ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share